ข่าว

บันทึกรัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน จากหนังสือรัฐบุรุษที่ชื่อเปรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดบันทึกรัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน เล่าชีวิตการเข้าสู่กรุงในวัยเรียน

   พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเช้ามืดวันที่ 26 พ.ค

   และนี่คือ... บันทึกของรัฐบุรุษ 5 แผ่นดินในหนังสือรัฐบุรุษที่ชื่อเปรม ที่นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก"ตำนานบรรดาเรา"  ซึ่งบันทึกดังกล่าวเป็นการเล่าชีวิตจากบ้านนอกสู่กรุงในวัยเรียน    

สู่กรุง

   “จากหัวลำโพง พี่ชุบพามานั่งรถ ซึ่งสองข้างทางทำให้ผมแทบตาไม่กะพริบจนมาถึงตรอกบ้านบาตรซึ่งเป็นบ้านของพระยาบรรณสิทธิ์ทัณการ หรือ อะดุง ศิลปีกุล เป็นผู้ใหญ่ที่พ่อผมให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ท่านและคุณหญิงมีน้ำใจประเสริฐมาก ท่านให้ความเมตตาและปรานี ซึ่งผมไม่มีวันจะลืมได้
“พี่ชุบอยู่บ้านหลังนี้มาก่อนแล้ว ตอนนั้นพี่ชุบเรียนธรรมศาสตร์และทำงานไปด้วย ท่านพระยาบรรณสิทธิ์และคุณหญิงท่านให้ความรักและเลี้ยงดูเราเหมือนเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ส่วนพี่ๆคนอื่นไม่ได้อยู่ด้วยกัน พี่ขยัน (ขยัน ติณสูลานนท์) เป็นนักเรียนประจำที่เซนต์โยเซฟ ส่วนนึก (สมนึก ติณสูลานนท์) เขาไปเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนๆ
วันแรกๆที่ผมเข้ามาพักที่บ้านของผู้มีพระคุณทั้งสอง ผมรู้สึกเหงามาก บ่อยครั้งที่ผมอยู่คนเดียว เพราะพี่ชุบต้องออกไปทำงาน”

ยามเหงาเช่นนี้ ทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ และคิดถึงวีรณรงค์ น้องคนเล็กและเพื่อนๆที่สงขลามาก
ความรู้สึกคิดถึงบ้านของนักเรียนบ้านนอกที่เข้าเมืองกรุง แทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะแรกๆนั้นแสนเหงา อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว สุดแสนจะทรมาน
เด็กหนุ่มชื่อ “เปรม” ก็หนีความรู้สึกสามัญธรรมดาเช่นที่ว่าไปไม่พ้น

“ระหว่างที่รอคอยจะสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยม ๗ และ ๘ ที่โรงเรียนไหนดี พี่ชุบและพี่เก่าจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้แนะนำให้ผมไปสอบเข้าที่สวนกุหลาบวิทยาลัยอยู่ตรงเชิงสะพานพุทธ ซึ่งสมนึกกำลังเรียนอยู่ และเขากำลังชื่อดังมากในฐานะแบ๊กฟุตบอลรุ่นใหญ่จนได้เสื้อและหมวกสามารถ
กิตติศัพท์เขาเป็นที่ร่ำลือกันมากที่เตะฟุตบอลข้ามหลังคาตึกยาวไปตกที่วัดเลียบ (วัดราชบุรณราชวรวิหาร) ซึ่งอยู่ข้างๆกันนั้นบ่อยๆ

พอผมได้ยินชื่อ “สวนกุหลาบฯ” ผมตกใจ
เพราะโรงเรียนนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง นักเรียน ครูบาอาจารย์ล้วนแต่เก่งๆ
นักเรียนสวนกุหลาบฯสอบชิงทุนไปนอกได้มากทุกปี
ใครๆก็อยากเข้าสวนกุหลาบฯกันทั้งนั้น
เราต้องไปแข่งกับคนมีความสามารถ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กกรุงเทพฯ คงเก่งกว่าเราที่เป็นเด็กบ้านนอก”

“พี่หมอนรสิงห์ เป็นคนพาผมไปสมัครสอบ
ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่า โรงเรียนสวนกุหลาบฯอยู่ที่ไหน ?
ผู้รับสมัครก็คือ “หลวงเสขสุนทร” ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบฯ
ผมยังจำได้ ท่านถามพี่หมอนรสิงห์ว่า “เธอพาใครมา”
พี่หมอตอบว่า “เขามาจากบ้านนอก ไม่มีญาติพี่น้อง ผมเลยพามาสมัคร”
เมื่อผมสมัครสอบแล้วก็กลับมาบ้านพระยาบรรณสิทธิ์ทัณฑการที่พักของเรา
ผมมุมานะดูหนังสือเป็นการใหญ่
ต้องสอบเข้าให้ได้
แม้ว่าผู้สอบเข้าล้วนแต่เรียนเก่งกันทั้งนั้นก็ตาม
อีกประการหนึ่ง สมนึกก็สอบเข้าเรียนสวนกุหลาบฯได้ ต่อมา บุญ ( สมบุญ ติณสูลานนท์ ) ก็มาสอบเข้าเรียนสวนกุหลาบฯได้อีก
ทำไมเราจะสอบเข้าไม่ได้”

“ผมตั้งใจสอบอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพื่อความภูมิใจของตัวผมเท่านั้น แม่ พ่อ และพี่ๆ หรือแม้แต่ครูเคล้าก็คงจะภูมิใจด้วย
เมื่อปรากฏผลออกมา ปรากฏว่า “ผมสอบได้”
ผมได้เป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯแล้ว
โรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในการเรียนและการมีระเบียบวินัย
ผมได้มีโอกาสนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ เสื้อราชปะแตน กระดุม ๕ เม็ด ใส่หมวกใบลานทรงกลม ถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้ายางหรือหนังสีดำ
ผมเข้าเรียนชั้นมัธยม ๗ แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๙ ได้เลขประจำตัว ๗๕๘๗ ตอนนั้นมี มิสเตอร์ เอ.ซึ. เชอร์ชิลล์ เป็นอาจารย์ใหญ่ มีครูหนู อมาตยกุล และขุนสิขสุนทร์ เป็นครูประจำชั้น
ในระยะที่เรียนอยู่ ๒ ปี โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เป็นพ่อแม่วิชาการแห่งที่ ๒ ของผม
“ผมพบเพื่อนเก่าคือ คุณสิทธิ เศวตศิลา ( พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ) ที่เคยเรียนกันมาเมื่อตอนชั้นประถมที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา คุณศุลี มหาสันทนะ ( ร.อ.ท.ศุลี มหาสันทนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ) คุณชาญ มนูธรรม ( ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ) มาพบกันที่นี่และก็มาร่วมรัฐบาลกันภายหลัง”

“เรียนที่สวนกุหลาบฯ เรียนกันอย่างคร่ำเคร่ง
ครูที่นี่ล้วนแต่มีคุณภาพสูง มีความสามารถมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนส่วนภูมิภาค มีครูฝรั่งสอนหลายคน ตั้งแต่อาจารย์ใหญ่ ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ครูสอนคณิตศาสตร์ ครูอาจารย์ทั้งไทยและฝรั่ง ท่านจริงจังที่จะสอนพวกเราให้เป็นคนดีและได้รับความรู้ที่แท้จริง
ครูบางคนเพียงกระแอมไอ นักเรียนจะขนหัวลุกเกรียว เช่น หลวงเสขสุนทร และครูฟู เป็นต้น”

ตอนที่ผมเรียนอยู่สวนกุหลาบฯ พ่อส่งเงินมาให้ใช้เดือนละ ๑๐ บาท ตอนนั้นพ่อไม่มีรายได้อะไรแล้ว นอกจากเงินบำนาญ
พี่ชุบ ซึ่งทำงานแล้วก็แบ่งให้ใช้บ้าง พี่ขยันก็แบ่งให้ใช้บ้าง เพราะเป็นนักเรียนประจำ มีอาหารการกินพร้อมอยู่แล้ว
สมัยนั้นเงิน ๑๐ บาทก็มากแล้วนะ ผมใช้ไม่หมด และผมก็ไม่ได้เที่ยวเตร่มุ่งแต่เรียน
เพื่อนๆผมที่สวนกุหลาบฯล้วนแต่คนดีทั้งสิ้น
คนที่ให้ความช่วยเหลือผมอย่างมากก็คือ บุญเกิด ประภาศิริ (เพื่อนสนิทที่สอบเข้าเรียนทหารด้วยกัน แต่ปีปัญหาสุขภาพจึงต้องออกจากโรงเรียนตอนปีที่ ๒)
“ผมสอบผ่านจากชั้นมัธยม ๗ ไปได้ด้วยดี และเรียนชั้นมัธยม ๘ เราเรียนกันหนักมากทั้งแข่งขันกับตัวเองและแข่งขันกับเพื่อนฝูง
และระหว่างในช่ว่งใกล้สอบชั้นมัธยม ๘ นั่นเอง สิ่งที่ผมเป็นห่วงใยได้เกิดขึ้นแล้ว
แม่ได้ล้มป่วยลง
ผมไม่มีโอกาสไปดูแลช่วยหยิบหยูกยาให้แม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลกัน
แต่ใจนั้นอยู่ใกล้
ผมได้สวดมนต์ภาวนาให้แม่หายวันหายคืน
เพราะที่จะให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตผมและพี่น้องผมต่อไป”
ความรักใดเล่า จะยิ่งใหญ่เกินไปกว่าความรักของบุตรที่มีต่อมารดา ในสถานะของความเป็น “ลูก” กตัญญูต่อแม่บังเกิดเกล้า
“ในที่สุด ร่มโพธิ์ของผมก็หักโค่นลง
แม่ได้เสียชีวิตที่บ้านพักสงขลา เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
ลูกๆในกรุงเทพฯไม่สามารถไปร่วมงานศพได้ เพราะอยู่ในระหว่างสอบ
พ่อซึ่งเดินทางขึ้นมาจากสงขลา มาบอกข่าวการจากไปของแม่แก่ลูกๆได้เดินทางกลับไป และเก็บศพแม่ไว้
เมื่อเสร็จสิ้นการสอบแล้ว ลูกๆทุกคนไปช่วยจัดงานเผาศพให้แม่ที่วัสระเกศ อ.เมือง สงขลา”
“เป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง”
ถ้าหากผมแลกชีวิตได้ผมก็จะแลก เพื่อให้แม่อยู่ดูโลกต่อไป
หลังจากเผาศพแม่แล้ว ก็นำกระดูกแม่ไปเก็บไว้ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิตระกูลติณสูลานนท์
“เมื่อแม่เจ็บหนักและจากไป ความใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอในสมัยเด็กๆได้ผุดขึ้นมาในสมองอีก แต่ผมทำไม่ได้เสียแล้ว
สติปัญญาผมอาจจะเรียนได้ แต่ไม่มีเงินที่จะเรียน
บุญเกิด เพื่อนรักเพื่อนสนิทของผมจึงแนะนำไปเข้าโรงเรียนนายร้อย
หลังจากที่ผมจบมัธยม ๘ ปี พ.ศ.๒๔๘๑ ( ปีการศึกษา ๒๔๘๐ ) จึงตัดสินใจไปสอบเข้าที่นั่น
ตอนแรกผมไม่ได้สนใจมาก่อนว่านักเรียนนายร้อยเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่าโรงเรียนนายร้อยอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ
“บุญเกิด อีกนั่นแหละที่พาผมไปสมัคร เราสมัครด้วยกันและสอบได้ทั้งคู่พร้อมกับเพื่อนจากสวนกุหลาบฯอีกหลายคน
ผมได้เป็นนักเรียนนเทฆนิคทหารบกอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ผมเป็นรุ่นที่ ๕ มีเพื่อนร่วมรุ่น ๕๔ คน
ถ้าแม่อยู่ แม่คงจะดีใจ
ทั้งๆที่ตอนนั้นที่บ้านผมไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะเป็นทหารกันนัก”
ชีวิตผมเริ่มบทใหม่แล้ว
และได้กล่าวคำปฏิญาณต่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระองค์ทรงให้กำเนิดสถาบันแห่งนี้ว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าจักรักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต”

ที่มา หนังสือรัฐบุรุษที่ชื่อเปรม, มูลนิธิรัฐบุรุษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ