ข่าว

จ่อใช้เทคนิค"ซุปเปอร์แซนวิช"หยุดภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปฏิบัติการฝนหลวง"ขึ้นบินพิษณุโลก จ่อใช้เทคนิค"ซุปเปอร์แซนวิช"คาดทำฝนตกมากขึ้นหยุดภัยแล้ง

 

14 พฤษภาคม 2562  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ความรุนแรงของพายุลูกเห็บเริ่มลดน้อยลงแล้วเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่ฤดูฝน 

 

แต่สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างอยู่ในหลายพื้นที่ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ เพิ่มขึ้นเป็น 18 แห่ง และเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพิ่มขึ้นเป็น 193 แห่ง ดังนั้น กรมฝนหลวงฯ

 

โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก จึงวางแผนเตรียมพิจารณาใช้เทคนิค “ซุปเปอร์แซนวิช” (Super Sandwich) ปฏิบัติการโจมตีเมฆในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อหวังผลให้มีฝนตกในบริเวณพื้นที่เป้าหมายได้ในปริมาณมากขึ้น เทคนิคซุปเปอร์แซนวิชเป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการโจมตีเมฆตามตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะปฏิบัติการเมื่อมียอดเมฆอยู่ที่ระดับ 20,000 ฟุตขึ้นไป โดยใช้เครื่องบิน Super King Air โจมตีในส่วนที่เป็นเมฆเย็นด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าสู่ยอดเมฆร่วมกับการโจมตีแบบเมฆอุ่น

 

ทั้งนี้จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (13 พ.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา หัวหิน สุราษฎร์ธานี และสงขลา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของจ.พะเยา น่าน เชียงราย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร บริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน รวมถึงบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส

 

 

 

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงวันนี้ ได้ขึ้นทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณทิศใต้ อ.วังน้ำเขียว - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณทิศเหนือ อ.วังน้ำเขียว - ทิศตะวันออก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณ ทิศเหนือ อ.ปักธงชัย - ทิศตะวันออก อ.หนองบุนมาก จ.นครราชสีมา

 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อ.ห้วยแถลง อ.เมืองนครราชสีมา อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำแชะ ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี ปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนอุบลรัตน์ และภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 2 บริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30%

 

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในช่วงเช้าสภาพอากาศมีลักษณะปิด จึงไม่สามารถขึ้นทำฝนได้ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ