ข่าว

"ผู้พิพากษา-สรรพากร" ร่วมแชร์เปลี่ยนองค์กรดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้พิพากษา-ตำรวจ ร่วมฟังอภิปรายคับคั่ง "อธ.กรมสรรพากร" แชร์แนวคิดพัฒนาองค์กรรัฐสู่ดิจิทัลต้องยึด 7 ข้อที่สำคัญ Leadership ต้องมุ่งมั่น เปิดใจ แต่ไม่ใช่เผด็จการ

 

          ห้องประชุม 603 ชั้น 6 ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 24 เม.ย.62 "นายภพ เอครพานิช" รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานส่งเสริมงานตุลาการ เนื่องในวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบ 137 ปีวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านศาลยุติธรรม ไปสู่ศาลยุติธรรมยุคดิจิทัล

          โดยมีผู้พิพากษา , ข้าราชการศาลยุติธรรม และข้าราชการตำรวจ ร่วมงานคับคั่ง พร้อมทั้งรับฟังการอภิปรายห้อข้อ "การเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานด้วยระบบดิจิทัลและประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล" ซึ่งในการงานอภิปราย มีการฉายภาพ Presentation เกี่ยวกับแนวคิดและเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นศาลดิจิทัลด้วย นาน 3 นาที ภายใต้คอนเซ็ปต์ D.DAY TO D-COURT 2020 

 

             ซึ่ง "นายภพ รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" ได้กล่าวเปิดอภิปรายว่า ศาลยุติธรรมมีวิสัยทัศน์เป็นสถาบันที่อำนวยความยุติธรรม เพื่อให้สังคมสงบสุขเป็นธรรมและเสมอภาคโดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานศาลยุติธรรม มีนโยบายในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอำนวยความยุติธรรมของการบริหารคดีและการบริการของศาลยุติธรรมให้มีความสะดวกรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อย ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น โดยสำนักงานศาลยุติธรรม กำลังก้าวไปสู่การเป็น D-Court ศาลดิจิทัลในปี พ.ศ.2563 หรือในปี ค.ศ.2020 ก็เป็นหนึ่งในพันธกิจที่จะพัฒนาการสร้างระบบสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมให้สะดวกรวดเร็วทันสมัยและเป็นสากล โดยบทบาทของสำนักงานศาลยุติธรรมในด้านการสนับสนุนการพิพากษาพิจารณาคดี ก็จะนำเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มาปรับใช้เพื่อให้เป็น D-Court ตามเป้าหมายต่อไป

       "ผู้พิพากษา-สรรพากร" ร่วมแชร์เปลี่ยนองค์กรดิจิทัล

             ขณะที่การอภิปรายช่วงแรก "น.ส.สุธาทิพ ยุทธโยธิน" ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยมี "นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" อธิบดีกรมสรรพากร , นายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผจก.และกรรมการบริหารความเสี่ยง ธ.กรุงไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

             โดย "นายเอกนิติ" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากร ก็ถือเป็นองค์กรใหญ่ระดับต้นๆ ของประเทศไทยเหมือนกันเพราะมีบุคลากรประมาณ 20,000 กว่าคน ซึ่งการจะเปลี่ยนองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัลก็ต้องยอมรับว่ามีความยากลำบากอยู่บ้าง เพราะภาครัฐมีกฎ-กติกาเยอะ ก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับศาลซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่เช่นกัน โดยการได้มาแชร์ประสบการณ์บอกเล่าถึงแนวคิดและปัญหาที่เจอครั้งนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้างกับศาลที่จะพัฒนาให้เป็น D-Court โดยโลกยุคใหม่ที่คิดว่าจะให้เป็น 4.0 นั้นก็ต้องมีความเชื่อ วิธีการหรือ Mindset ไว้ก่อนซึ่งจะต้องมีชุดความคิดที่ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ต้องกลัวจะผิดพลาด เรียนรู้ให้เร็ว และถ้าพลาดก็ให้เริ่มทำใหม่ ซึ่งกรมสรรพากรเราก็ทำเช่นนี้เราไม่รู้ว่าที่เดินไปนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้ให้เร็วก็จะไม่สามารถพัฒนาได้ โดยโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันก็ติดกับกฎ-กติกามากมาย เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนราชการ ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวในต่างประเทศซึ่งเขาสามารถใช้บริการรถ Uber และ Grab ได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ในเมืองไทยยังผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้นแนวคิดยุคใหม่ต้องเปลี่ยนให้เร็ว ปรับให้เร็ว ส่วนที่ศาลกำลังจะเปลี่ยนให้เป็น D-Court ตนก็เชื่อว่าการเปลี่ยนระบบจะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนระบบดำเนินการของศาลแต่จะเปลี่ยนประเทศไทยด้วย

"ผู้พิพากษา-สรรพากร" ร่วมแชร์เปลี่ยนองค์กรดิจิทัล

             สำหรับพื้นฐานของการจะเปลี่ยนองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัลนั้น สิ่งที่ต้องทำในการขับเคลื่อนองค์กรก็คือ 1.สภาพแวดล้อม Environment  ซึ่งระบบราชการก็จะแบ่งส่วนทำงานของตนเองและส่วนใหญ่มักจะไม่ได้พูดคุยกัน หากจะปรับให้เป็นระบบดิจิทัลก็ต้องอาศัยการประสานงานกัน 2.Leadership ส่วนนี้สำคัญมาก ซึ่งหน่วยงานรัฐหากผู้นำจะทำอย่างไรแล้วก็จะต้องทำตามกันด้วย ดังนั้นข้อดีของภาคราชการคือจะต้องรับฟังผู้นำซึ่งทำให้ขับเคลื่อนง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือถ้าผู้นำไปผิดทาง งานก็จะไปผิดทางเช่นกันและหากไม่เปิดใจรับฟังลูกน้องก็จะผิดทางได้เช่นกัน ความเป็นผู้นำจึงสำคัญมากซึ่ง Leadership คือความใส่ใจความมุ่งมั่นของผู้นำที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่เผด็จการไม่ฟังลูกน้อง ไม่ฟังใคร ถ้าเป็นเผด็จการจะถือว่าเป็นเรื่องอันตราย 

"ผู้พิพากษา-สรรพากร" ร่วมแชร์เปลี่ยนองค์กรดิจิทัล

             3.Customer & Partner ปัจจุบันแทบจะทุกองค์กรยึด Customer ผู้ที่เป็นลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ตัวอย่างของกรมสรรพากรก็ต้องนึกถึงผู้ที่ยื่นแบบภาษี ที่สามารถจะเข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้สะดวก ดังนั้นศาลก็จะต้องคิดมุมนี้เช่นกันว่า Customer ของศาลคือใคร ส่วน Partner หรือผู้ที่ร่วมลงมือกันทำงานก็สำคัญ โดยการพัฒนาเราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมดแต่สามารถที่จะมีผู้ร่วมดำเนินการ เหมือนแนวคิดของกรมสรรพากรในช่วงของการพัฒนาก็เปิดให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที มาร่วมพัฒนาที่จะเชื่อมข้อมูลในการการยื่นแบบแสดงภาษีได้โดยกรมสรรพากรก็จะควบคุมมาตรฐาน ส่วนเอกชนก็จะลงทุนในการพัฒนาแอพลิเคชั่น 4.Strategies  คือยุทธศาสตร์ที่ต้องทำให้ชัดว่าการพัฒนาดิจิทัลจะทำอะไรบ้าง ต้องไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงจากการใช้กระดาษมาเป็นดิจิทัลนั่นคือความเข้าใจผิด แต่ดิจิทัล คือการเปลี่ยนทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติ เช่นแนวคิดในการสร้างช่องทางหรือ Platform ต่างๆ ขึ้นมาแล้วเราควบคุมให้ทุกช่องทางให้มีมาตฐานที่ดีแบบเดียวกัน ก็เหมือนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน 5.Data การทำข้อมูลหรือฐานข้อมูล 6.Workforce หรือลูกทีมก็ต้องทำให้มีแนวคิดมาอยู่ในจุดเดียวกันโดยอาศัยยุทธศาสตร์ที่วางไว้

"ผู้พิพากษา-สรรพากร" ร่วมแชร์เปลี่ยนองค์กรดิจิทัล

             จากนั้นในช่วงท้ายของการอภิปราย "นายนิติธร วงศ์ยืน" ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายต่อในส่วนของการอภิปรายกลุ่มผู้พิพากษา โดยมีนางกองกนก โกศัลลกุฎ สุขพันธุ์ถาวร ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา , นายสิรภพ วีระวานิช ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา , นายวรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง , น.ส.จริมจิต พันธ์ทวี ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี , น.ส.อัมภัสชา ดิษฐอำนาจ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมเป็นวิทยากรอภิปราย

              โดยกลุ่มผู้พิพากษา ได้กล่าวถึงโมเดลการปรับตัวสู่ D-Court ที่มี 7 ประการ 1. ผู้รับบริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน , ประชาชนมีส่วนร่วม มีการกดไลค์ กดแชร์ กดคอมเม้นท์ และมีการขอข้อมูลของศาล 2.ผู้นำและกลยุทธ์ โดยผู้นำต้องมีกลยุทธ์ที่ต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ดิจิทัล 3.นวัตกรรม/โมเดล การให้บริการใหม่ซึ่งต้องคิดค้นรูปแบบการให้บริการแบบใหม่ โดยคำนึงถึงการตอบสนองของประชาชน

              4.การปรับเปลี่ยนกระบวนการ ให้กระจายอำนาจ ลดขั้นตอน และองค์กรในภาครัฐต้องมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน 5.ความสามารถด้านดิจิทัล ต้องมีเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT กับคนจะตอบโจทย์ดิจิทัลได้ ซึ่งระบบ IT ก็ต้องจัดทำตามแผน ส่วนคนก็จะต้องมีทักษะและทัศนคติที่สามารถตอบโจทก์ดิจิทัล 6.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยในการฝากข้อมูลไว้ในระบบจะต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย 7. นโยบายกฎหมาย/กฎระเบียบภาครัฐ ก็จะต้องพัฒนากฎระเบียบเช่นแนวทางการบริหารจัดการสำนวนคดี , หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับหมายจับอิเล็กทรอนิกส์

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ