ข่าว

"กฤษฏา"สั่งสอบซ้ำ 3 ปมใช้งบไม่เกิดประโยชน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กฤษฏา"สั่งสอบซ้ำ 3 ปมห้ามลูบหน้าปะจมูก"สตง."ชี้ปี 58 - 60 เกษตรฯใช้งบไม่เกิดประโยชน์ ขาดผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานเร่งรีบเสนอโครงการ ทั้งปล่อยร้านขายสารเคมีเกลื่อน

 

                  12 เมษายน 2562 นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความด่วนที่สุดผ่านไลน์ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯเรื่อง ขอทราบผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และการดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ  

 

                  ทั้งนี้ได้ให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯและอธิบดีที่เป็นหน่วยรับการตรวจสอบของ สตง. โดยให้ปลัดกระทรวง เรียกประชุมอธิบดีและหรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามผลการตรวจสอบของ สตง.ทั้ง 3 เรื่องและแจ้งให้ตนทราบผลภายใน 15 วัน

 

                  สำหรับโครงการของกระทรวงเกษตรฯที่สตง.เข้าตรวจสอบและพบว่าไม่เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และเสียโอกาสในการนำงบไปใช้โครงการที่เร่งด่วนช่วยเหลือความเดือดร้อนประชาชน และเกษตรกร ได้มากกว่า โดย 3 โครงการ มีดังนี้คือ

 

                  1.โครงการเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 4.0 ของจังหวัดสุพรรณบุรี จากยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พัฒนาปัจจัยสนับสนุนในการบริหารจัดการภาคการเกษตรและสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้เติบโตก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารปลอดภัย ได้รับ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 จำนวน 98.96 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 20.30 ล้านบาท

 

                  อาทิสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดทำกิจกรรมยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค เป็นเงิน 4.04 ล้านบาท และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จการบริหารจัดการจะอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีวภาพตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในนามโรงสีข้าวปลอดภัยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีวภาพตำบลหนองสะเดา พบว่า การดำเนินกิจกรรมยกระดับการผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภค ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เนื่องจาก ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตในด้านต่างๆ 


                  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี ได้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นเงิน 16.26 ล้านบาท เป็นค่าจัดซื้อเครื่องผสมปุ๋ยเคมีด้วยระบบคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้ง และอุปกรณ์ เพื่ออุดหนุนให้แก่สหกรณ์การเกษตรอำเภอ จำนวน 7 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 1 แห่ง พบว่า มีการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจาก ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยและจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ตามเป้าหมายและตามอัตราการผลิตที่กำหนดไว้

 

                  ทั้งนี้ยังขาดการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการไม่ได้เป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ที่จัดทำตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แต่เป็นโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ ได้จัดทำตามแนวทางและขั้นตอนการจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัด งบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งตามแนวทางและขั้นตอนการจัดทำโครงการของกลุ่มจังหวัดฯ กำหนดระยะเวลาของการดำเนินการตั้งแต่การจัดทำโครงการเบื้องต้น จนถึงวันเสนอแผนเพื่ออนุมัติ เพียง 15 วัน โดยไม่สามารถนำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์ใช้ได้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณที่จะต้องเสนอโครงการสูงเกินกว่าแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่มีอยู่ เป็นจำนวนมาก


                  “จากการประเมินความสำเร็จของโครงการในแต่ละกิจกรรมจะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ให้เติบโตก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารปลอดภัย (Food Innopolis) เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจกรรมของโครงการไม่สามารถดำเนินการในกิจกรรมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วนของสภาพปัญหา โดยแต่ละหน่วยงานผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินโครงการให้เหตุผลว่า โครงการบางส่วนกิจกรรมยังไม่พร้อมดำเนินการในรูปแบบกลุ่มระบบการจัดการวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร ดำเนินการยุ่งยาก ไม่สะดวก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย และบางกิจกรรมได้ประโยชน์เพียงเกษตรกรกลุ่มเล็ก ๆ ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ประกอบกับไม่มีความพร้อม ทั้งด้านเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ”               

 

                  2.การตรวจสอบการดำเนินงาน การควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในปริมาณที่สูง จากสถิติของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ประเภทสารเคมีทางการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2558 มีปริมาณการนำเข้าจำนวน 134,377.18 ตัน 172,673.94 ตัน 147,269.93 ตัน และ 149,458.69 ตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า จำนวนเงิน 19,357.44 ล้านบาท 24,369.05 ล้านบาท 22,789.23 ล้านบาท และ 19,301.91 ล้านบาท ตามลำดับ

 

                  จากการตรวจสอบ พบว่า ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรยังมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้จากการสุ่มตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 123 ร้าน ระหว่างเดือนพฤษภาคม- กันยายน 2558 พบว่าร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (เพื่อขาย)

 

                  จากการที่ยังมีร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาตและไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสี่ยงที่ร้านค้าอาจจำหน่ายวัตถุอันตรายปลอม ไม่ได้มาตรฐาน หรือด้อยคุณภาพ ทำให้เกษตรกรได้ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จากการรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 พบว่า ร้านจำหน่ายที่ไม่ขออนุญาตและไม่ขอต่ออายุ ใบอนุญาตมีจำนวนรวม 867 ร้าน ค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท หากร้านค้าดังกล่าว เป็นร้านที่ยังเปิดจำหน่ายอยู่จะคำนวณค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้จัดเก็บทั้งสิ้น 433,500 บาท

 

                  จากการตรวจสอบ จำนวน 84 ร้าน โดยเป็นร้านที่มีวัตถุอันตรายทางการเกษตรวางจำหน่ายในร้าน จำนวน 80 ร้าน ส่วนอีก 4 ร้าน ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการโดยไม่มีวางจำหน่ายในร้าน พบสภาพปัญหาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 23 ร้าน จากทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 28.74 ยังมีร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งตามมาตรา 43 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง จำนวน 1 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 1.25

 

                  ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรปลอม ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่แสดงว่าเป็น วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 45 (1) จำนวน 3 ร้าน จากจำนวนร้านที่ตรวจสอบทั้งหมด 80 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.75 ไม่มีใบอนุญาต จำนวน 17 ร้าน พบว่า ร้านจำหน่าย ที่มีใบอนุญาตแต่ไม่แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่ายมีจำนวน 21 ร้าน จากจำนวนร้านที่มี ใบอนุญาตทั้งหมด 67 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 31.34 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบร้านจำหน่ายวัตถุอันตราย ทางการเกษตรว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

                  สาเหตุที่ทำให้ร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรบางส่วนยังมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการติดตามการต่ออายุ ใบอนุญาตและการแจ้งยกเลิกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย เพื่อให้มีการปฏิบัติเป็นไป ในแนวทางเดียวกัน


                  ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบสภาพปัญหาการวางจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ชื่อสามัญ ไดโครโทฟอส ในร้านค้า ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง แสดงให้เห็นว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้มีการประกาศห้ามใช้แล้ว นอกจากนี้ จากข้อมูลผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ประจำปี 2558-2559 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai - PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ได้รายงานสถานการณ์ สารเคมีตกค้างในผักผลไม้

 

                  โดยตรวจพบวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ สารคาร์โบ ฟูราน และสารเมโทมิล ซึ่งหลายภาคส่วนเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับ อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ ไม่มีการนำเข้าสารเคมีชนิดนี้มาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 เนื่องจากทะเบียนเดิมหมดอายุ แต่ยังคงมีการตรวจพบสารเคมีดังกล่าวตกค้างในตัวอย่างผัก ผลไม้ที่สุ่มตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการลักลอบจำหน่ายสารเคมีโดยผิดกฎหมาย และนำมาใช้ในการเพาะปลูก นอกจากนี้ วัตถุอันตรายทางการเกษตรปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานสร้างความเสียหายให้แก่ เกษตรกร และการจำหน่ายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรผู้ใช้ไม่ได้รับทราบข้อมูลสาระสำคัญที่จำเป็น เพื่อให้การใช้วัตถุอันตรายเป็นไป อย่างถูกต้อง และไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้


                  จากการสังเกตการณ์ร้านจำหน่ายที่มีวัตถุอันตรายทางการเกษตรวางจำหน่าย จำนวน80 ร้าน พบว่า ร้านค้าที่วางจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่ามีจำนวน 71 ร้าน คิดเป็น ร้อยละ 88.75 ซึ่งผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่ามีทั้งภาชนะบรรจุที่มี สภาพเก่า และภาชนะบรรจุที่มีสภาพใหม่ โดยฉลากที่ปิดภาชนะบรรจุรวมถึงวัน/เดือน/ปีที่ผลิต มีลักษณะเป็นของใหม่ แต่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554

 

                  ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรซื้อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นเลขทะเบียนเก่าไปใช้ อาจทำให้เกิด ความเสียหายต่อเกษตรกรได้ กล่าวคือ วัตถุอันตรายทางการเกษตรเลขทะเบียนเก่าจะผลิตมาแล้วมากกว่า 4 ปี (นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554) จึงมีความเสี่ยงที่จะเสื่อมคุณภาพ และใช้ไม่ได้ผลตามที่ฉลากระบุไว้ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้แมลงหรือศัตรูพืชเกิดการดื้อยา


                  3.โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชุมพร ปีงบประมาณ 2558 โดยสตง.ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต นอกจากนี้ยังทำให้ราชการและประชาชนสูญเสียโอกาสในการนำงบประมาณดังกล่าวนำไปพัฒนาหรือดำเนินการโครงการอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเดือดร้อนมากกว่า

 

                  ผลจากการที่โรงงานผลิตยางคอมปาวด์เพื่อป้อนสู่โรงงานผลิตสายพานลำเลียงไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ ส่งผลให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรยางพารา ให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกิดภาระหนี้สินและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด เนื่องจากสหกรณ์ กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด ได้ทำสัญญาเงินกู้ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท กับธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อต่อเติมอาคารโรงงานเพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานและจัดวางเครื่องจักรกลโรงงานที่ได้รับเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตยางคอมปาวด์และทำให้ราชการสูญเสียงบประมาณ จำนวนเงิน 30,184,000 บาท โดยเปล่าประโยชน์

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ