ข่าว

"ปิดตำนาน"ม็อบฝายราษีไศลจ่ายกลุ่มสุดท้าย 599 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปิดตำนาน"ม็อบฝายราษีไศล กั้นลำน้ำมูล ท่วมที่ทำกินศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด เดือดร้อนเกือบ 40 ปี เร่งเยียวยากลุ่มสุดท้าย 599 ล้าน

 

 

                   10 เมษายน 2562 นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากครม.มีมติ จ่ายค่าชดเชยวงเงิน 599 ล้านบาท ให้เกษตรกรหลังจากได้รับผลกระทบจากก่อสร้างฝายราษีไศล มาเกือบ 40 ปี  

 

 

                   โดยกระทรวงพลังงาน ก่อสร้างเมื่อปี 2532 - 2535 เริ่มเก็บน้ำในลำน้ำมูล ทำให้เกิดปัญหาน้ำเข้าท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ผ่านมาได้เข้ามาก่อม็อบประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมาตลอด และเมื่อปี 2545 มีการโอนภารกิจของกระทรวงพลังงาน มาให้กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านมาต่อเนื่อง

 

                   “เมื่อปี 35 ฝายราษีไศลเริ่มเก็บน้ำในลำมูล ส่งผลระดับน้ำท่วมตลิ่ง ชาวบ้านเดือดร้อน และโอนภารกิจมาให้กรมชล แก้ปัญหาจากปี 45 ขณะนี้สรุปการชดเชยค่าเสียหายล็อตสุดท้ายที่ยังจ่ายค่าชดเชยไม่ครบในพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ จากนี้กรมชลประทาน จะไปรังวัดพิสูจน์สิทธิการครอบครองเกษตรกรทำกินจริงในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎรได้รับผลกระทบจากฝายราศีไศล ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯเป็นประธาน “นายมนัส กล่าว

 

                   รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า จากผลกระทบการสร้างฝายราษีไศล ทั้งหมดจ่ายชดเชยไปแล้ว 1.9 พันล้านบาท โดยครม.นี้ได้พิจารณาช่วยเหลือกลุ่มสุดท้าย 599 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านดีใจมากได้เดินทางมาขอบคุณกรมชลฯ จากเดิมอาจแก้ได้ล่าช้าเพราะไม่มีแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าได้นำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ มาแปรพื้นที่ สามารถรู้พื้นที่ ได้ทั้งหมด ตรงไหนหัวคันนาใคร ส่วนใดพื้นที่ทับซ้อน สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเกษตรกรทำประโยชน์จริง แล้วมาพิสูจน์สิทธิการทำกิน เป็นเกษตรกรตัวจริงทั้งหมด จากพื้นที่ชาวบ้านกว่า 9 หมื่นไร่ที่โดนน้ำท่วม โดยจ่ายไปแล้ว 6 หมื่นกว่าไร่ ซึ่งวันนี้ฝ่ายราชการแก้ปัญหาได้ชาวบ้านพึ่งพอใจ ยืนยันปัญหาฝายราศีไศลจบหมดแน่นอนในสองปีนี้

 

                   ทั้งนี้จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจ่ายในอัตราไร่ละ 32,000 บาท ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบสิทธิของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ