ข่าว

'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กสม.-พระปกเกล้า" ร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา เปิดหลักสูตร ปสม.1

          เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า เดินทางมาเป็นประธานเปิดการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1 หรือ ปสม.1 โดยกล่าวว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนเป็นคำสากลสืบเนื่องมาจากต่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ได้เกิดสหประชาชาติขึ้น จึงส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยทุกๆประเทศให้การยอมรับ เป็นการดีที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติริเริ่มหลักสูตรนี้ขึ้นร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ทั้งนี้ผู้ที่เข้าศึกษาจะได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นจึงขอชื่นชมและเชื่อมั่นว่าทุกคนจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในองค์กรของแต่ละคนต่อไป

'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน

          นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้การรับรองไว้ตลอดทั้งกฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคีมากว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งหมดนี้ล้วนมุ่งให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ อย่างแท้จริง โดยปัจจุบันการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศจะเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อจัดการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกคนและทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง 

          “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสถาบันพระปกเกล้า เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมความตระหนักและการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มนักบริหารระดับสูงในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจึงได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง เพื่อมุ่งสร้างเสริมความรู้แก่กลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม และมีศักยภาพในการกำหนดทิศทางขององค์กรในสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งจะส่งให้การปฏิบัติและการสร้างความตระหนักเพื่อการเคารพสิทธิมนุษยชนเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นในสังคมไทย อันจะเป็นผลดีต่อการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีความยั่งยืนอีกด้วย” นายวัส กล่าว

'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน

'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน

 

 

 

          ด้าน ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้ามีพันธกิจสำคัญคือการให้บริการทางวิชาการทั้งในรูปของการศึกษาอบรมทางวิชาการ ให้คำปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และบริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี ซึ่งประเด็นสิทธิมนุษยชนศึกษาได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการอบรมที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าด้วยเพราะสิทธิมนุษยชนคือพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ประชาชนชาวไทยทุกคนควรรู้และเข้าใจโดยเฉพาะผู้นำองค์กรที่มีบทบาทที่จะสามารถขับเคลื่อนงานภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง กสม.และสถาบันพระปกเกล้า ในการจัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ

'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน

          เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อว่า โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 7 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1.ฐานคิดและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน 2.มาตรฐานและกลไกสิทธิมนุษยชน 3.สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สากล 4.สิทธิมนุษยชนบนกระแสความท้าทาย 5.บทบาทผู้บริหารกับงานสิทธิมนุษยชน 6.การเสริมสร้างประสบการณ์เชิงประจักษ์ และ 7.สังเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สำหรับรูปแบบการศึกษาประกอบด้วย การบรรยาย อภิปราย วิเคราะห์แลกเปลี่ยนกรณีศึกษา การศึกษาดูงาน การจัดทำเอกสารวิชาการกลุ่มและเอกสารเชิงนโยบายส่วนบุคคล ทั้งนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะโดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและเกณฑ์ต่าง ๆ ของสถาบันพระปกเกล้าอย่างครบถ้วน  

  'ปมส.1'หลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน        

          ขณะที่ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า กสม. และสถาบันพระปกเกล้า ได้ร่วมกันคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 70 คน เพื่อเข้ารับการอบรมในรุ่นแรก ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เดือน กรกฎาคม 2562 รวมระยะเวลา 4 เดือน และจะเปิดหลักสูตรในวันพุธที่ 27  มีนาคม 2562 โดย กสม. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่จะนำมาถ่ายทอดให้ผู้เข้ารับการอบรม เช่น หลักการความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายภายในประเทศ แนวทางฐานสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกรณีศึกษา จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้รับความรู้และทักษะด้านสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ อย่างหลากหลาย สามารถปฏิบัติเป็นตัวอย่างในองค์กร มีสมรรถนะด้านสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งยังผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายในทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างและขยายเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูงในทุกภาคส่วนต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ