ข่าว

"กรมชลฯ"ระบุน้ำกิน-ใช้เหลือ 23%จัดส่งได้ตลอดฤดูแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมชลฯ"ระบุน้ำกินใช้เหลือ 23%จัดส่งได้ตลอดฤดูแล้ง สำรองน้ำไว้ในเขื่อนอีก 2 หมื่นล้านลบ.ม.แม้ฝนมาช้า-ทิ้งช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.แถมเจอปลูกข้าวนาปรังเกินแผนจัดสรร

 

                  20 มีนาคม 2562  นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)  

 

                  ถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562 โดยกรมชลประทานนำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งสถานการณ์น้ำปัจจุบัน มีปริมาณน้ำเก็บกักร่วมทั้งประเทศประมาณ 48,346 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 25,355 ล้าน ลบ.ม. มีแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี2561/62 รวม 23,100 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรไปแล้ว 17,798 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 คงเหลือ 5,302 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งแน่นอน อีกทั้งยังสำรองช่วงต้นฤดูฝนอีก 20,053 ล้าน ลบ.ม. กรณีเกิดฝนทิ้งช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.

 

                  สำหรับน้ำลุ่มเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 7,372 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 5,650 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำแควน้อยฯ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 424 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 301 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 7,051 ล้าน ลบ.ม. แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 8,000 ล้าน ลบ.ม. ทำการจัดสรรแล้ว 6,971 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 มีปริมาณน้ำคงเหลือ 1,029 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 13 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝน 6,022 ล้าน ลบ.ม.

 

"กรมชลฯ"ระบุน้ำกิน-ใช้เหลือ 23%จัดส่งได้ตลอดฤดูแล้ง

 

                  ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15,152 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 6,106 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 7,981 ล้าน ลบ.ม. มีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 5,700 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรไปแล้ว 2,196 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรร 3,504 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝนอีก 4,477 ล้าน ลบ.ม.                

 

                   นายทองเปลว ยืนยันว่า สถานการณ์โดยรวมในพื้นที่เขตชลประทานไม่มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง แม้ว่าบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินแผนที่กำหนดไว้ได้แก่ ภาคเหนือ ปลูกเกินแผน 210,000 ไร่ ภาคตะวันออกเกินแผน 40,000 ไร่ และลุ่มเจ้าพระยาเกินแผน 550,000 ไร่ รวม 3 พื้นที่ 800,000 ไร่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางฝั่งตะวันตก และภาคใต้ปลูกต่ำกว่าแผนรวม 570,000 ไร่

 

"กรมชลฯ"ระบุน้ำกิน-ใช้เหลือ 23%จัดส่งได้ตลอดฤดูแล้ง

 

                  ดังนั้นจึงที่เกินแผนทั้งประเทศ 230,000 ไร่ แต่ปริมาณน้ำในขณะนี้ยังเพียงพอที่จะส่งให้เกษตรกรจนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด แต่กำชับทุกสำนักงานชลประทานประสานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นเข้าประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำนาปรัง เนื่องจากสิ้นเดือนเมษายน จะงดทำการส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรฝืนปลูกต่ออาจส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรได้

 

                  สำหรับการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาป้องกันพื้นที่เสียงขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน ได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิเช่น เครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำ จำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุด 69 ลำ รถบรรทุกน้ำ 106 คัน รถบรรทุก 511 คัน รถแทรกเตอร์ 565 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง กระจายไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และศูนย์อำนวยการฯ ที่กรมชลประทานเพื่อให้พร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที

 

"กรมชลฯ"ระบุน้ำกิน-ใช้เหลือ 23%จัดส่งได้ตลอดฤดูแล้ง

 

                  ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนั้น นายทองเปลว กล่าวว่า รมว.เกษตรฯ สั่งการมายังกรมชลประทานให้กำชับสำนักงานโครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ให้คำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย เนื่องจากปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดาการณ์ว่า ฤดูแล้งมีอุณหภูมิสูงและฝนจะมาล่า จากปกติจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม อาจเลื่อนไปเป็นปลายเดือนพฤษภาคม จึงขอให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือทำตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ชลประทานด้วย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ