ข่าว

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สกาย การ์เด้น' โปรเจกต์ร่วมสร้างเมืองปลอดฝุ่น

          ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่คนเมืองหลวง และพื้นที่อื่นๆกำลังประสบและเป็นปัญหาระดับประเทศ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ยังคงหามาตรการในการลดปริมาณฝุ่น  ทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาว  เช่นเดียวกับโปรเจกต์ สกาย การ์เด้น (Project sky garden) ที่ริเริ่มโครงการโดย นายณัทร  ศรีกายกุล  ประธานบริษัท Earth Craft TH จำกัด เนื่องจากเขาได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควันมาในช่วง2-3 ปีก่อนหน้านี้  จึงได้หารือกับทีมนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของไทย  เพื่อทำเครื่องมือในการดักจับฝุ่นหรือ ไบโอฟิลเตอร์

          นายณัทร เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการสกาย การ์เด้น ว่า หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องของปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว ทางบริษัท ต้องการสร้างเครื่องมือที่เป็น ไบโอฟิลเตอร์  ขึ้นมาเพื่อนำไปแก้ปัญหาฝุ่นควัน  จึงทำการค้นคว้าหาข้อมูล ก็ได้ไอเดียมาจากประเทศเยอรมนี ที่เขาใช้  “มอส” มาติดตั้งกับพัดลม ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศขึ้น  เมื่อเห็นไอเดียนี้ ครั้งแรก ก็คิดว่าน่าจะซื้อ เครื่องมือดังกล่าวจากประเทศเยอรมนี มาใช้ในประเทศไทย แต่ติดปัญหาหลักๆ คือ “มอส” ที่ใช้กับเครื่องมือนั้นเป็น  มอสเมืองหนาว หากนำมาใช้ในประเทศไทย ก็น่าจะตายทันที พันธุ์มอสยังต้องถูกคัดเลือกพันธุ์ที่สามารถอยู่อาศัยได้ในสภาพอากาศประเทศไทย  ต่อมาคือราคาเครื่องมือนี้หากมีการนำเข้าจากประเทศเยอรมัน ราคาสูงถึง 25,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับรวมถึงภาษีนำเข้าและค่าขนส่ง และคิดว่าในเรื่องระบบทางลมของเครื่องที่ว่ายังสามารถพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

          "สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดแนวคิดว่า หากในประเทศไทย สามารถประดิษฐ์เครื่องไบโอฟิลเตอร์ ในการดักจับฝุ่นควันได้ ก็จะทำให้ลดการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล    แนวคิดนี้ ยังส่งต่อถึงกลุ่มเกษตรกร  ด้วย  เพราะหากมีการสร้างเครื่องนี้เป็นรูปธรรม จะมีความต้องการในการใช้มอสจำนวนมาก  เกษตรกรก็จะมีรายได้ เพราะราคารับซื้อตารางเมตรมากกว่า 1,000 บาท  โดยใน 1 ไร่ ปลูกมอสได้ มากถึง 1,000 ตางรางเมตร  ซึ่งหากการสร้างเครื่องมือไบโอฟิลเตอร์ สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกมอสแล้ว ยังช่วยทำให้อากาศในประเทศเราดีขึ้น  รวมถึงรายได้ไม่ไหลออกนอกประเทศด้วย" นายณัทร กล่าว

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

          นายณัทร กล่าวอีกว่า เมื่อได้แนวคิดนี้แล้ว และต้องการผลักดันโปรเจกต์ สกาย การ์เด้น ให้เป็นรูปธรรม  จึงไปปรึกษากับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา  ในการระดมสมองสร้างเครื่องมือในการดักจับฝุ่นควัน หรือไบโอฟิลเตอร์ขึ้นมา โดยใช้ มอส เป็นปัจจัยหลักในการดูดจับฝุ่นควัน โดยเริ่มแรกได้มีการทำการวิจัยในห้องปิดประมาณ 1 ตารางเมตร ปล่อยควันและมลพิษ ต่างๆ เข้าไปในห้องปิดดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณมากถึง 2,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และใส่มอสลงไปด้านในพร้อมระบบลม ผลปรากฎว่า ในเวลาเพียงแค่ 10 นาที ค่าฝุ่นลดลงมาเหลือแค่ 300  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อทดลองต่อไปอีก 10 นาที ในห้องปิดดังกล่าว กลายเป็นอากาศบริสุทธิ์ และเมื่อทดลองระบบครบเวลา 40 นาที  พบว่า อากาศในห้อง มีค่าฝุ่นละอองกลายเป็นศูนย์ 

          นายณัทร กล่าวด้วยว่า หลังจากทำการทดลองในระบบปิดแล้ว  ก็ได้มีการไปหารือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาระบบทางลมที่มีเซนเซอร์วัดค่า ทั้งก่อนและหลังที่จะดูดเอาฝุ่นเข้ามาในเครื่องนี้ ส่วนในเรื่องประสิทธิผลที่ทางเราคาดหวัง เครื่องมือนี้จะสามารถดูดมลพิษบริเวณรัศมี 5 เมตร เป็นอย่างน้อย ทางกลุ่มมีความตั้งใจว่าจะทำให้แล้วเสร็จ และนำมาทดลองใช้งาน อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มผู้ริเริ่มโครงการ จะมีการหารือกันอีกครั้งเพื่อให้โปรเจกต์นี้ มีความสมบูรณ์มากที่สุดในอนาคต

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

'สกายการ์เด้น'สร้างเมืองปลอดฝุ่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ