ข่าว

"ยกฟ้อง"ขอถอนประกาศเกณฑ์ผลิตปิโตรเลียม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยกฟ้องขอถอนประกาศเกณฑ์ผลิตปิโตรเลียม"ศาลปกครอง"ชี้มูลนิธิผู้บริโภคฟ้องได้ ศาลมีอำนาจรับฟ้องคดีประโยชน์สาธารณะ แต่สุดท้ายขั้นตอนออกประกาศกำหนดระบบตอบแทนชอบแล้ว

 

                   11 กุมภาาพันธ์ 2562  ที่ศาลปกครองสูงสุด  ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.10/2561 ซึ่งศาลตัดสินเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟร.1/2562  

 

 

                   ที่ "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ยื่นฟ้อง คณะกรรมการปิโตรเลียม , คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องพิพาทความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี


                   โดยขอให้ศาล เพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่19 ต.ค.60 และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ.2561


                   ขณะที่ "ศาลปกครองสูงสุด" วินิจฉัยสิทธิการฟ้องคดีว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี และคดีเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมซึ่งศาลสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้จะยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

   
                     ส่วนกรณีประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม  เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการลงวันที่ 19 ต.ค.60 ที่ได้ฟ้องว่าประกาศที่กำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการได้ ก็ต่อเมื่อเป็นพื้นที่ที่มีผลการสำรวจพบปิโตรเลียมที่ชัดเจนและมีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไปและมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม หรือมีปริมาณสำรวจก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จงใจให้ไม่สามารถนำระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ได้ จึงขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิมนั้น


                   "ศาลปกครองสูงสุด"เห็นว่าการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมโดยการให้สัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้น การได้ผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกัน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ และพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้ให้อำนาจ "คณะกรรมการปิโตรเลียม" โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่า ที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด การกำหนดวิธีการสำรวจจากปริมาณการสำรวจพบปิโตรเลียมและโอกาสพบปิโตรเลียมจึงสามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจ และการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ย่อมหมายความ รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย การกำหนดวิธีการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก

 

                   ดังนั้นการที่ "คณะกรรมการปิโตรเลียม" ใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียมที่สามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศไทย จึงมีเหตุผลสนับสนุนและไม่อาจรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย


                   อีกทั้ง ตามประกาศพิพาทกำหนดให้มีการทบทวนโอกาส พบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยทุกๆ 3 ปี โอกาสที่รัฐจะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้

   
                      ส่วนกรณี กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต  พ.ศ.2561 นั้นที่ฟ้องว่า แบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตท้ายกฎกระทรวงที่กำหนดให้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีสิทธิรับส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรแทนรัฐโดยเจรจาราคาตามที่เห็นชอบกับผู้รับสัญญาโดยไม่ได้ดำเนินการ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นการเปิดโอกาสให้ร่วมการทุจริตนั้น


                   "ศาลปกครองสูงสุด" เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้กำหนดวิธีการขายปิโตรเลียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงเป็นไปตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

   
                      ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมา "ศาลปกครองสูงสุด" จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง


                   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยคดีนี้เป็นการฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 11 (2) ที่ให้อำนาจศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี


                   โดยเมื่อ "ศาลปกครองสูงสุด" มีคำพิพากษามาแล้ว จึงถือเป็นที่สุดตามกระบวนการ ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีก คดีเป็นอันยุติด้วยผลคดียกฟ้อง

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ