ข่าว

ห้ามผลิต-จำหน่าย-นำเข้า สมุนไพรรักษาโรค หากไม่ขออนุญาต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.เสียงเอกฉันท์ 181 เสียง ผ่านกฎหมายห้ามผลิต-จำหน่าย-นำเข้า สมุนไพรรักษาโรค หากไม่ขออนุญาต เขียนโทษแรง จำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน

 

            รัฐสภา – 7 กุมภาพันธ์ 2562 –สนช.เสียงเอกฉันท์ 181 เสียง ผ่านกฎหมายห้ามผลิต-จำหน่าย-นำเข้า สมุนไพรรักษาโรค หากไม่ขออนุญาต เขียนโทษแรง จำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน เปิดสาระ กลุ่มโอท็อป จ่อโดนมาตรการบังคับด้วย ด้าน "มหรรณพ" ยันไม่กระทบกลุ่มชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้าน ทำยาสมุนไพรใช้เอง เหตุ กมธ. เขียนข้อเสนอแนะให้ "สธ." ออกกฎกระทรวงยกเว้น แนะ "ปชช." ทำไปเหอะ ไร้ปัญหา

            ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยเสียงเอกฉันท์ 181 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ผลใช้บังคับของร่างกฎหมายดังกล่าว ร่างกฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 60 วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

          โดยเนื้อหามีสาระสำคัญ คือการกำหนดให้ผู้ผลิต, จำหน่าย หรือ นำเข้า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งรวมถึงยาแผนไทย, ยาพัฒนาจากสมุรไพร, ยาแผนโบราณ  เพื่อบำบัด รักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยของมนุษย์ ต้องขอใบอนุญาตผลิต จำหน่าย และนำเข้า จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด   และหากผู้ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ไม่ขอใบอนุญาตในกิจกรรมดังกล่าว ตามกฎหมายห้ามผลิต, จำหน่าย หรือ นำเข้า โดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกและปรับตามอัตราที่กำหนด เช่น ผู้ผลิต,นำเขา หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท, ผู้ที่นำเข้าหรือขายสมุนไพรเสื่อมคุณภาพ โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท,

 

       ห้ามผลิต-จำหน่าย-นำเข้า สมุนไพรรักษาโรค หากไม่ขออนุญาต

               ทั้งนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับ จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรรมกรนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ที่มี นายกฯ เป็นประธาน ประกอบด้วยคณะกรรมการอีก 32 คน เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ และมีประเด็นที่ กรรมาธิการฯ เพิ่มเติมในร่างกฎหมาย คือ ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตสมุนไรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบต่อการผลิตสมุนไพรตามแนวทางเกษตรปลอดภัย, และ 2.คณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และคณะกรรมการ อีก 20 คน

                โดยนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การผลิตสมุนไพรในชุมชน หรือเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านจะไม่สามารถทำได้หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากหน่วยงาน ว่า "ทำไปเหอะ ผลิตได้ปกติ เพราะทางกรรมาธิการฯ ทำข้อสังเกตแนบร่างกฎหมายไปว่า ให้กระทรวงออกกฎกระทรวงยกเว้นไว้ให้"

                ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ในระหว่างรอกฎกระทรวงเพื่องดเว้นกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ทำยาสมุนไพรทานหรือใช้เองต้องทำอย่างไร นายมหรรณพ กล่าวยืนยันคำเดิมก่อนวางสายว่า "ทำไปเหอะ ไม่มีปัญหา".

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ รวมถึงบทเฉพาะกาล หลักไม่มีมาตราใดยกเว้นให้กับการผลิตสมุนไพรหรือสูตรตำรับยาของชาวบ้าน หรือ ปราชญ์ชาวบ้าน มีเพียงการตั้งข้อสังเกตของ กมธ.ที่แนบรายละเอียดให้ ที่ประชุมสนช. และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปพิจารณา คือ เสนอให้ กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ ให้ยกเว้นการขอใบอนุญาตหรือโทษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กรณีของปราชญ์ชาวบ้าน, วิสาหกิจชุมชน (โอท็อป) ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถผลิตสมุนไพรใช้ดูแลสุขภาพชุมชน และการปลูก หรือแปรรูปสมุนไพรตามภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ