ข่าว

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครั้งแรกของไทย ม.กรุงเทพ จับมือ สพฐ. และกองทุน ดร.สุพงษ์ฯ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ

 

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนเรื่อง AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล จัดทำโครงการอบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Education for Young Students) จำนวนกว่า 600 คนจากทุกภูมิภาค นับเป็นครั้งแรกของไทยที่จัดสอนด้าน AI ให้ครูทั่วประเทศ หวังสร้างต้นน้ำแห่งความรู้สู่นักเรียน

 

          หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้ว ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ร่วมกับ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการภายนอก ม.กรุงเทพ และประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล จัดโครงการ Young AI Robotics เชิญโรงเรียนนำร่อง 10 แห่งมาร่วมอบรมเรื่องหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ภายในระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีเต็ม พร้อมมอบหุ่นยนต์ TurtleBots3 ให้แก่ทั้ง 10 โรงเรียนเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะแล้ว ปีนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ กองทุน ดร.สุพงษ์ฯ ยังสานต่อปณิธานในการพัฒนาแวดวงการศึกษาอีกครั้ง ด้วยการจัดโครงการอบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Education for Young Students) ซึ่งอบรมโดยคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้าน Creative Technology โดยครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดอบรมด้วย นับเป็นโครงการแรกของไทยที่จัดสอนครูจากทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งแรกที่ทำความร่วมมือกับสพฐ. อย่างเป็นทางการ

 

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์

 

          โครงการ AI Education for Young Students เป็นการอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ครูระดับมัธยมปลายในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) รวม 3 รุ่น เป็นจำนวนกว่า 600 คน โดยทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดการอบรมครั้งนี้เล็งเห็นว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลก ดังนั้นประเทศชาติจึงจำเป็นต้องเร่งบ่มเพาะเยาวชนให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อจะได้นำความรู้ไปพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมนานาชาติอย่างทันท่วงที การสร้างครูเพื่อให้มีแนวทางในการนำเนื้อหาจากการอบรมไปถ่ายทอดแก่นักเรียนจากรุ่นสู่รุ่น จึงนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

 

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์

 

          “นอกจากโครงการนี้จะเป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเรื่องทันกระแสโลก ยังตอบสนองวัตถุประสงค์ของสพฐ.ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาด้วย” ดร.ธัญนันท์ แก้วเกิด ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการให้ความสนับสนุนของสพฐ. “เพราะโครงการนี้เป็นการขยายความรู้จากระดับอุดมศึกษา ไปสู่ระดับมัธยมศึกษา ผ่านทางคุณครูผู้มีหน้าที่บ่มเพาะเยาวชนของชาติ นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่สร้างระบบนิเวศครบวงจรให้แก่กัน ระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย”
    

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์

 

          ขณะที่ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการภายนอก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ฯ ผู้ให้การสนับสนุนโครงการกล่าวว่า โครงการนี้มุ่งสร้างครู เพราะครูเป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาไทยให้แข็งแรง ที่สำคัญคือ จะได้สอนนักเรียนให้อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างสมดุลและยั่งยืน ในฐานะผู้ควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ทาสของเทคโนโลยี “การเรียนรู้เทคโนโลยี ใครๆ ก็ทำได้ แต่การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ซึ่งครูนั่นเองจะเป็นผู้ให้ทั้งศาสตร์ความรู้ทางวิชาการ และศิลปะในการดำรงชีวิตแก่นักเรียน”

 

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์


          ด้าน ผศ.ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการ กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับ Technology Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างสิ้นเชิง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้จึงจะเป็นผู้ที่สามารถข้ามผ่านกระแส disruption ของโลกไปได้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงตั้งใจสร้างครู เพื่อให้ครูนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่นักเรียนต่อไป ซึ่งเรายินดียิ่งเพราะมีครูกว่า 600 คนจากทั่วทุกภูมิภาคของไทยสนใจเข้าร่วมโครงการครั้งนี้”

 

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์

 

         โครงการ AI Education for Young Students จึงไม่ได้เป็นเพียงโครงการอบรมครูที่พบเห็นทั่วไป แต่เป็นครั้งแรกของไทยที่สร้างต้นน้ำการเรียนรู้ซึ่งก็คือครู เพื่อให้นำความรู้ไปพัฒนาจนถึงปลายน้ำคือนักเรียน ผู้ที่จะกลายเป็นบุคลากรคุณภาพของชาติ ของโลก และสามารถก้าวข้าม Technology Disruption ต่อไป. 

 

ม.กรุงเทพ ปักธงสร้างครูสอนปัญญาประดิษฐ์
    
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ