ข่าว

CPI ไทยร่วง 3 อันดับ ไม่ชัดเจน "เลือกตั้ง-จำกัดเสรีภาพ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป.ป.ช.เผย "ดัชนีการรับรู้การทุจริต" ปี 2018 "ไทย" คะแนนลดฮวบ 3 อันดับ รั้งที่ 99 ของโลก เหตุปีที่แล้วขาดความชัดเจน "เลือกตั้ง-ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ"

 

          29 ม.ค.62-ป.ป.ช.เผย "ดัชนีการรับรู้การทุจริต" ปี 2018 "ไทย" คะแนนลดฮวบ 3 อันดับ รั้งที่ 99 ของโลก เหตุปีที่แล้วขาดความชัดเจน "เลือกตั้ง-ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ" จี้ รัฐ ใช้กฎหมายจริงจัง เอกชน ไม่ให้สินบน สังคมต้องตื่นตัว 

          นายวรวิทย์  สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึง กรณี องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency Internationalหรือ TI) ประกาศ ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ว่า จำนวน 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุดคือเดนมาร์กได้ 88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ ลดลงจากปีก่อนที่ได้ 37 คะแนน อยู่อันดับที่ 96 ของโลก 

             CPI ไทยร่วง 3 อันดับ ไม่ชัดเจน "เลือกตั้ง-จำกัดเสรีภาพ"

         นายวรวิทย์ กล่าวว่า ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2018 นั้น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ค่าคะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ล้วนมีคะแนนเท่าเดิม

         CPI ไทยร่วง 3 อันดับ ไม่ชัดเจน "เลือกตั้ง-จำกัดเสรีภาพ"

         นายวรวิทย์ กล่าวว่า 3แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน ได้แก่ 1. กรณี International Institute ManagementDevelopment (IMD) : World CompetitivenessYearbook นำผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4. โครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ 41 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 2 คะแนน 

               CPI ไทยร่วง 3 อันดับ ไม่ชัดเจน "เลือกตั้ง-จำกัดเสรีภาพ"

         ทั้งนี้ การที่คะแนนลดลงนั้น แม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ หลายฉบับเช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ตาม แต่ยังขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง จึงอาจทำให้ประชาชนและนักธุรกิจยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้

         นายวรวิทย์ กล่าวว่า การที่ Political and Economic Risk Consultancy หรือ PERC สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ไทยได้ 37 คะแนน ลดลง 4 คะแนนจากปีก่อน โดยคะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะ แม้ว่ามุมมองนักธุรกิจภายในประเทศจะมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ปี 2018 มีความรุนแรงน้อยกว่า ปี 2017 แต่ในมุมมองของนักธุรกิจต่างชาติที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ยังคงเห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐบาล นอกจากนี้ ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการระดับสูงในอดีต ซึ่งประชาชน กล้าออกมาเปิดเผยมากขึ้น ดังที่เป็นข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนที่ทำให้มุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีผลให้มีค่าคะแนนที่ลดลง

        นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนแหล่งที่ 3 คือ Varieties of Democracy Project หรือ V-DEM ได้ 21 คะแนนลดลงจากปีก่อน 2 คะแนน โดยเป็นการวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในปี 2016 มีการวัดในอาเซียนเพียง 4 ประเทศ แต่ในปี 2017 มีการวัดในอาเซียน 10 ประเทศ

        ​"คะแนนลดลงน่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน" นายวรวิทย์ กล่าว

  ​       นายวรวิทย์ กล่าวว่า ดังนั้น ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต

         เลขาป.ป.ช. กล่าวอีกว่า เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะมีการศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก หรือวางมาตรการเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ มาตรการเพื่อวางเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนการป้องกันการทุจริต โดยใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่จะเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2562

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ