ข่าว

"กรมชลฯ"มั่นใจน้ำในเขื่อนเพียงพอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำต้นทุนมีเพียงพอ 3.9 หมื่นล้านลบ.ม.ทั้งในเขื่อน-แหล่งน้ำ-แก้มลิง กันน้ำเผื่อฝนมาช้า แนะพักทำนารอบสองเปลี่ยนปลูกข้าวโพด ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุน

 

 

                 22 มกราคม 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (22 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 55,608 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)  

 

 

                 หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 31,678 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ทั้งนี้เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,597 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,901 ล้าน ลบ.ม.

 

                 สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย.61–30 เม.ย.62) ของกรมชลประทาน น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ มีน้ำต้นทุนปริมาณ 34,151 ล้าน ลบ.ม. ขนาดกลาง 3,274 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งได้สำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ ลำน้ำ และแก้มลิง มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 2,145 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนรวมทั้งประเทศ 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำจำนวนนี้นำมาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง 23,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วงระยะเวลา 1 พ.ย.61 - 31 ก.ค.62 เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรต่อเนื่อง อาทิ สวนผลไม้การรักษาระบบนิเวศ และการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือ 16,470 ล้าน ลบ.ม. จะเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า

 

                 ทั้งนี้ปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ได้วางแผนการจัดสรรทั้งประเทศ ได้ดำเนินการจัดสรรแล้วร้อยละ 41 หรือคิดเป็น 9,401ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำที่ตั้งไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้น ยังเหลือน้ำที่สามารถจัดสรรในช่วงฤดูแล้งจนถึงวันที่30 เม.ย.62 ในปริมาณ 13,699 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอ เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

 

                โดยแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง เช่น การปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน วางแผนพื้นที่ทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกแล้ว 6.80 ล้านไร่คิดเป็นร้อยละ 85 จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 62)

 

               “น้ำที่จะใช้สนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค การทำเกษตร รักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งนี้มีเพียงพอตามแผนที่วางไว้แน่นอน แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา พักทำนารอบสอง ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย” นายทองเปลว กล่าว

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ