ข่าว

ศาลสั่งคุมประพฤติข้าราชการเมาขับ 160 ราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุมประพฤติ เผยสถิติเมาแล้วขับช่วง 7 วันอันตรายต้อนรับปีใหม่  เพิ่มกว่า 3,000 คดี ศาลสั่งคุมประพฤติขรก.เมาขับ  160 คน ผลสำรวจเมาขับซ้ำซาก 3 ปี

 

                       7 มกราคม 2562  นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมน.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงสถิติ"คดีเมาแล้วขับ ถูกจับคุมประพฤติ"  

 

 

                       ช่วงวันอันตรายระว่างวันที่ 27 ธ.ค 61-2 มค.62 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าในปีนี้มีตัวเลขคดีเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 คดี และมีจำนวนผู้ที่กระทำความผิดซ้ำถึง153 คน

 

                       นายประสาร กล่าวว่า สำหรับสถิติคดีเมาแล้วขับผู้กระทำความผิดที่เข้าสู่ระบบบังคับใช้กฎหมายและศาลมีคำสั่งส่งมาให้กรมคุมประพฤติดูแลภายใน 1 ปีโดยใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM จำนวน 80 ราย และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหะสถานในช่วง 22.00-04-00 น. ในจำนวนนี้มีผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง 1 ราย ซึ่งกรมคุมประพฤติได้รายงานให้ศาลรับทราบแล้ว และหลังจากครบ 7 วันอันตรายศาลยังมีคำสั่งให้ใช้กำไล EM กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับอีก 26 ราย รวมมีผู้ที่ใช้กำไล EM ถูกควบคุมความประพฤติ 116 ราย เป็นผู้ชาย 110 ราย และผู้หญิง 6 ราย

 

                        ในปีนี้มีคดีที่เข้าสู่ระบบจำนวน 9,453 คดี แยกเป็น คดีเมาแล้วขับเมา 8,706 คดี คดีเสพและขับ 701 คดี คดีขับรถประมาท 44 คดี และคดีขับรถซิ่ง  2 คดี ในจำนวนนี้ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ชายร้อยละ 97.2 ผู้หญิง 2.77 เปอร์เซ็นต์ สำหรับช่วงอายุของผู้ที่กระทำความผิดน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 595 ราย, ระหว่างอายุ 21-30 ปี จำนวน 2,378 ราย, ระหว่างอายุ 31-40 ปี จำนวน 2,340 ราย, ระหว่างอายุ 41-50 ปี จำนวน 1,985 ราย, ระหว่างอายุ 51-60 ปี จำนวน 888 ราย, อายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 213 ราย และไม่ระบุอายุ จำนวน 1,054 ราย

 

                      อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้กระทำความผิด มีอาชีพรับจ้าง จำนวน 3,436 ราย, อาชีพเกษตรกร จำนวน 823 ราย, อาชีพพนักงานบริษัท รัฐวิสาหกิจ จำนวน 772 ราย, อาชีพค้าขาย จำนวน 333 ราย, นักเรียน/ นักศึกษา จำนวน 200 ราย, ข้าราชการ จำนวน 160 ราย, อาชีพธุรกิจส่วนตัว จำนวน 131 ราย, พนักงานขับรถโดยสาร/ บรรทุก จำนวน 98 ราย, ว่างงาน จำนวน 72 ราย,  อื่นๆ (ไม่ระบุ) จำนวน 3,428 ราย  

 

                     โดยกลุ่มข้าราชการที่กระทำความผิดจะต้องถูกคุมประพฤติระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ถูกคุมประพฤติและผู้ที่ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก ซึ่งศาลสั่งให้กรมคุมประพฤติสืบเสาะประวัติเพิ่มเติม จำนวน 66 คดี และให้ทำงานบริการสังคม 15 วัน ขยายได้ไม่เกินครั้ง 30 วัน  โดยพื้นที่ที่ผู้ถูกคุมประพฤติมากที่สุด แยกเป็น ภาคเหนือ 951 คดี จังหวัดเชียงรายมีผู้กระทำความผิดมากสุด จำนวน 331 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,175 คดี  จังหวัดมหาสารคามมีผู้กระทำความผิดมากสุด จำนวน 565 คดี  ภาคกลาง  1879 คดี  

 

                    จังหวัดปทุมธานีมีผู้กระทำความผิดมากที่สุด จำนวน 188 คดี ภาคตะวันออก 1020 คดี จังหวัดที่ทำความผิดมากที่สุดคือฉะเชิงเทรา 207 คดี ภาคตะวันตก 219 คดี จังหวัดตากกระทำผิดมากที่สุด 67 คดี ภาคใต้ 335 คดี จังหวัดพัทลุงกระทำความผิดมากที่สุด  84 คดี ส่วนกทม. 567 คดี โดยศาลได้ระบุเงื่อนไขสำหรับผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรายงานความประพฤติกับศาลปีละ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชม. , พักการใช้ใบอนุญาตขับรถ ระยะเวลา 6 เดือน, ให้เข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/ วินัยจราจร , ห้ามออกนอกสถานที่ โดยการติด EM  บางรายต้องตรวจปัสสวะหาสารเสพติด และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  

 

                    "จากการตรวจสอบในระบบคุมประพฤติพบว่ามีจำนวน 153 รายที่เคยถูกจับซ้ำในข้อหาเมาแล้วขับในช่วง 3 ปีท่านมา ซึ่งขณะนี้กรมคุมประพฤติได้ทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อนำบุคคลเหล่านี้มาเข้ารับการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมว่าเข้าข่ายมีความเสี่ยงสูงในการติดสุราหรือไม่ หากพบพฤติกรรมเสี่ยงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือติดสุราในระดับต่ำจะส่งไปทำงานบริการสังคม อบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและลดเลิกแอลกอฮอล์"นายประสารกล่าว

 

                    ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 463 ราย ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุเกิดจากเมาแล้วขับ โดยในปีนี้กรมควบคุมโรคได้ทำโครงการนำร่องร่วมกับกรมคุมประพฤติบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ดื่มแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำ โดยจะส่งตัวบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ติดสุราและมีปัญหาซับซ้อนจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และกรณีผู้ที่เมาและมีอาการทางจิตรุนแรงจะส่งต่อไปสังกัด โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดสุรารุนแรงเรื้องรังให้มีสุขภาพดีไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก ซึ่งมีตัวเลขผู้เข้ารับการบำบัด 4 รายเข้าโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จำนวน 1 ราย, โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง จำนวน 1 ราย, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี จำนวน 2 ราย

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ