ข่าว

ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีมีเดีย ฟอรัม เสนอไอเดีย สื่อทุกแขนงรวมตัว รับมือสงครามข่าวสาร ช่วงเลือกตั้ง ห่วง นักการเมือง ปั่นกระแสข่าวปล่อย-ชวนเชื่อ ปชช.ให้เลือกตั้งมากกว่านำเสนอนโยบาย

 

          สมาคมนักข่าวฯ - 18 ธันวาคม 2561 - เวทีมีเดีย ฟอรัม เสนอไอเดีย สื่อทุกแขนงรวมตัว รับมือสงครามข่าวสาร ช่วงเลือกตั้ง ห่วง นักการเมือง ปั่นกระแสข่าวปล่อย-ชวนเชื่อ ปชช.ให้เลือกตั้ง มากกว่านำเสนอนโยบาย-ประเด็นสาธารณะที่สร้างประโยชน์  ด้าน "กกต." เผยคุยกับ เฟซบุ๊ค-ไลน์  ขอความร่วมมือควบคุมข่าวช่วงเลือกตั้ง ส่วน "สุภิญญา" จี้ กกต. เปิดข้อตกลง หวั่นรัฐแทรกแซง-ข้อตกลงไม่เป็นธรรม

           สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเสวนา Media Forum ครั้งที่6 เรื่องบทบาทสื่อและการรับมือสงคราวข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง โดยมีนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งนี้นักวิชาการได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการสื่อข่าวทางออนไลน์ ที่จะกลายเป็นสถานการณ์ที่ทำให้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งรวมถึงการตัดสินใจต่อการเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ทางการเมือง การบริหารประเทศ ซึ่งผู้ร่วมเวทีมีความกังวลต่อการสร้างข่าวสารที่เป็นเท็จ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อและจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งที่ผิดพลาด

          ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

           ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ให้ความเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรี เพราะ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมการเลือกตั้ง ทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ, บังคับใช้กติกา รวมถึงควบคุมกลไกของหน่วยงานที่กำกับการเลือกตั้ง  และประเด็นสำคัญคือ คสช. ส่งรัฐมนตรีในรัฐบาล จำนวน 4 คนจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเตรียมลงเล่นการเมือง ดังนั้นในบทบาทของสื่อมวลชนต่อการเลือกตั้งเพื่อให้การจัดเลือกตั้งมีความเป็นธรรม อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังมีคำสั่ง คสช. ที่กำกับบทบาทด้านการสื่อข้อมูลและนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน 

 

 

        ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง
          โดย นายเอกพันธ์ุ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรณีที่สังคมได้รับข้อมูลถูกต้องและแม่นยำผ่านสังคมออนไลน์ ขึ้นอยู่กับกระบวนการและรูปแบบได้มาซึ่งเนื้อหา ทั้งนี้ตนมีความกังวลต่อการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อกระแสหลัก ผ่านช่องทางออนไลน์ ในเรื่องของข้อเท็จจริงมากกว่าการนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางหรือไม่​ เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่าสังคมโตพอที่จะแยกแยะว่าประเด็นใดที่จะสร้างความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชังในช่วงการเลือกตั้งหรือไม่​

          ส่วนนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (กสม.)  กล่าวว่า สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งบุคคลทั่วไปมองใน 2 ประเด็น คือ 1.ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนระบบอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะจากโครงสร้างที่กำหนด ทั้ง แผนยุทธศาสตร์ชาติ, รัฐธรรมนูญ คือ การเปลี่ยนผ่าน ที่มีอำนาจนิยมหรือระบบเผด็จการควบคุมการเมือง และ 2.สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งประชาชนต้องการรับรู้ว่า 4-5 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ รวมถึง ความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม​ รวมถึงกติกาทางการเมือง มีรายละเอียดและการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวต้องนำไปสู่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบ เปิดพื้นท่ีสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชาติ มากกว่าประโยชน์ของตัวบุคคล หรือการสร้างความเกลียดชัง ปลุกระดม สร้างความเป็นฝักฝ่าย ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสรี รวมถึงสะท้อนไปยัง คสช. ว่า การควบคุมเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครอง

        ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

          ขณะที่นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เชื่อว่าในช่วงเลือกตั้งจะมีสงครามข่าวสาร และพบกรณีปล่อยข่าว, สร้างข่าวลวง หรือ ข่าวปล่อย ซึ่งมีลักษณะโยนหินถามทาง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องรวมตัวเพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการติดตามข้อมูลที่นำเสนอ แม้จะมีกระบวนการที่นำไปสู่การนำเสนอที่ช้า แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดข้อมูลที่แม่นยำ​ นอกจากนั้นสื่อมวลชนต้องร่วมมือสะกัดกั้นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น การออกแบบบัตรเลือกตั้ง, การแบ่งเขตเลือกตั้ง  เพื่อไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งจากกรณีที่จะมีกลุ่มคนประท้วงที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

           "ในการเลือกตั้งของต่างประเทศ พบข้อมูลว่าจะมีการสาดโคลนกันจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยเชื่อว่าจะมี ทั้งการเผาบ้านเผาเมือง, คดี 6ศพในวัดปทุมวนาราม  ดังนั้นหากเป็นไปได้สื่อมวลชนไม่ควรให้ความสนใจมากนัก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการขุดความขัดแย้งขึ้นมากอีก ดังนั้นสิ่งที่ต้องการเห็น คือการเจาะข้อมูลด้านนโยบายมากกว่าการนำเสนอตัวบุคคล การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ขณะที่กระบวนการการเลือกตั้ง สื่อมวลชนต้องแม่นยำในรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง" นางสมศรี กล่าว

             ส่วนนายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่าตนกังวลในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งจะพบการปล่อยข่าวลวง และใช้กลุ่มของสังคมออนไลน์ปั่นกระแสให้ขึ้นติดอันดับคำหรือความนิยมทางโลกออนไลน์ ทั้งนี้มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าได้รับความร่วมมือจากรัสเซียร่วมกันสร้างกระแสข่าวพร้อมกัน จนทำให้ผู้ติดตามโลกออนไลน์เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ไดรับความนิยม โดยไม่ได้รับการตรวจสอบหรือข้อเท็จจริงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเป็นการปั่นกระแส ดังนั้นในการเลือกตั้งของประเทศไทย ตนมองว่า กกต. ต้องมีระบบตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

             ขณะที่นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบัณฑิต เซ็นเตอร์ (Kapook.com) เสนอต่อเวทีเสวนาด้วยว่า ให้เกิดการรวมตัวขอสื่อมวลชน ที่สื่อข่าวทางออนไลน์​ ผ่านการติดแฮชแท็ค หรือ รูปภาพที่มีคอนเซ็ปเดียวกัน เพื่อให้เกิดกระแสและพลังในการรับมือช่วงเลือกตั้ง

      ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

               ขณะที่ตัวแทนจาก กกต. ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี กกต. กล่าวว่าระเบียบการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พ ที่กำหนดไว้ ซึ่งนักข่าวยังฟังคำสั่ง ดังนั้น กกต.ต้องทำตามเช่นกัน โดยหลังจากนี้กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะทยอยออกมา และในวันที่ 19 ธันวาคม จะมีเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากนักการเมืองและสื่อมวลชนเพื่อให้กติกาออกมาดีที่สุด นอกจากนั้นกกต. พร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ผลจะเป็นไปตามต้องการหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ขณะที่การสร้างข้อมูลเท็จ หรือ โฆษณาชวนเชื่อนั้น กกต. มีระบบตรวจสอบภายใต้กฎหมายปกติ โดยการควบคุมนั้นจะมีระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้การจับกุมและดำเนินคดีอาจทำได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ กกต. ได้คุยกับหน่วยงานเอกชน ทั้งฝ่ายเฟซบุ๊ค และ ไลน์ ยินดีให้ความร่วมมือกับ กกต.ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น เช่น ลบข้อความตามที่แจ้ง

ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

              ขณะที่นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ให้มุมมองด้วยว่าโซเชียลมีเดียคือสนามรบหลักของการเลือกตั้งในปี 2562 แต่สิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งได้ คือ การเชื่อมโยงสนามรบเสมือนกับพื้นที่ทางกายภาพได้ ทั้งนี้การใช้โซเชียลมีเดียไม่เป็นภาระของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะสังคมออนไลน์นั้นสร้างการสื่อสารที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันได้ ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้รับสารทางเดียวเท่านั้น

             "ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีมาก และเข้าถึงได้ง่าย แต่ปัญหาคือคนไม่ต้องการรู้เพียงแค่ข้อมูลที่เข้าถึงได้เท่านั้น เพราะต้องการมุมวิเคราะห์จากข้อสงสัยที่เกิดขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญ​ มาตรา 88 ว่าด้วยการเสนอชื่อบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองสนับสนุน เป็นข้อมูลที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่ประชาชนอยากรู้มากกว่านั้นคือ ทำไมต้องเขียนกลไกลักษณะดังกล่าว และจะนำไปสู่อะไรหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะทำคือการรวมตัวเพื่อรับมือกับสงครามข่าวสารในช่วงเลือกตั้ง ที่มีลักษณะคล้ายของการประทุของระเบิดที่ถูกกดทับ" นายสติธร กล่าว

      ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

             ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่าสงครามข่าวสารเป็นการต่อสู้และกำหนดวาระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน ขณะที่การรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองจากประชาชนรวมถึงกลุ่มต่างๆ ขาดหายไป ดังนั้นการกระจายอำนาจของสื่อสาร กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้รัฐมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นการสร้างกลไก ที่สร้างบรรยากาศเสรีภาพ, นำเสนอข้อเท็จจริงตามมาตรฐานจรรยาบรรณ  รวมถึงการสร้างความเป็นธรรมในช่วงของการเลือกตั้ง ผ่านการร่วมประชาสังคมที่ตรวจสอบข้อมูล ทำให้สังคมเดินหน้าได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงประเด็นการตั้งกลไกที่รวมตัว ที่อาจถูกมองว่าเป็นกลไกที่ไม่เป็นกลาง หรือทำหน้าที่เพื่อตัดสินมากกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ภาคสังคมเสนอ สื่อรวมตัว รับมือสงครามข่าวช่วงเลือกตั้ง

              "ตามที่ กกต. บอกว่าได้คุยกับไลน์ และเฟซบุ๊คถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ไม่เปิดเผยนั้นทำให้กลายเป็นข้อสังสัยว่าหน่วยงานเอกชนดังกล่าวจะมีข้อตกลงอะไรบางอย่างกับรัฐ เพื่อเซ็นเซอร์ หรือกำหนดว่าสิ่งที่ผิดหรือถูกด้วยมาตรการของรัฐหรือไม่ ดังนั้นควรจะเปิดเผยให้สังคมรับรู้ด้วย เพื่อให้กระบวนการของช่องทางออนไลน์เกิดประโยชน์ ไม่ใช่การให้ภาครัฐมีบทบาทเหนือองค์กรเอกชน ที่จะเปิดช่องให้คนที่สามารถเข้าถึงผู้ให้บริการดังกล่าวได้ อาจเกิดความได้เปรียบหรือได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว ดังนั้นสิ่งที่ต้องยกระดับในระยะเร่งด่วน คือ การทำให้เกิดความอิสระ, ความยุติธรรมและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง" น.ส.สุภิญญา กล่าว.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ