ข่าว

ไปไกล ! ส่งยางผลิตล้อเครื่องบิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

20 สหกรณ์เกษตรกรสวนยางพารา พร้อมส่งยางผลิตล้อยางเครื่องบิน คุณภาพยางไทยไปโลด เอกชนสนใจ ประมูลซื้อยางในประเทศอปท.ลุยทำถนนยางทั่วไทย ดันราคาขยับแล้วโลละ 2 บาท

 

 

               16 ธันวาคม 2561 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าโครงการช้อปยางช่วยยาง มีบริษัทผลิตยางล้อรถ เข้าร่วมแล้ว 5 บริษัท 

 

 

               โดยรับซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ชาวสวนยาง โดยตรง แจ้งปริมาณรับซื้อเบื้องต้น 1.7 พันตัน นับว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาคุณภาพการผลิตยางพาราของสถาบันเกษตรกรทั้งสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนเพราะบริษัทล้อยางและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอเช่น ค่าความหนืด ความยืดหยุ่น รวมถึงต้องมีความสะอาด มีสิ่งปนเปื้อนไม่เกินค่าที่กำหนด ซึ่งกยท. จะร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้มีการผลิตยางที่ได้มาตรฐาน GMP ตามที่ตลาดต้องการ

 

               ปัจจุบันมี 20 สหกรณ์ที่สามารถผลิตยางตามมาตรฐานได้ บริษัทผู้ผลิตล้อยางและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจึงพร้อมรับซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ได้ประสานกับบริษัทล้อยางแห่งใหญ่ระดับโลกซึ่งมีโรงงานในไทยเพื่อเสนอขายยางพาราจากสหกรณ์ที่ผลิตยางได้มาตรฐาน GMP เพื่อใช้ผลิตเป็นล้อยางเครื่องบิน ซึ่งทางบริษัทสนใจเพราะไม่ต้องไปประมูลแข่งขันซื้อจากตลาดต่างประเทศ แต่ขอให้กยท. รับรองมาตรฐานคุณภาพยาง รวมทั้งต้องสามารถรวบรวมยางส่งเข้าโรงงานให้ได้ทั้งปริมาณและตามกำหนดเวลาสั่งซื้อ

 

               “การพัฒนาคุณภาพยางพาราทั้งยางแผ่นและยางแท่งให้ได้มาตรฐาน GMP จะทำให้สามารถส่งขายแก่บริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางได้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งเป็นการยกระดับการผลิตยางพาราของสถาบันเกษตรกรของไทยซึ่งจะทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น” นายณกรณ์ กล่าว

 

               สำหรับโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร หลังกำหนดคู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับถนนท้องถิ่น พร้อมหลักเกณฑ์และราคากลางก่อสร้างฯ เพื่อให้ อปท. ดำเนินการก่อสร้างเองหรือจ้างเหมาก่อสร้าง โดยมีวัตถุดิบเป็นน้ำยางจากบริษัทผู้ผลิต สถาบันและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. รับรองขณะนี้พร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ หลังมี “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง ข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานถนนท้องถิ่น”  

 

 

              โดยดำเนินการสร้างถนนด้วยกระบวนการหรือผสมในงานสนามได้เลย (Mix in Place) แล้วใช้รถเกลี่ยดิน (Motor Grader) ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการก่อสร้างถนนได้ โดยยึดมาตรฐานจากคู่มือแนะนำการก่อสร้างและคู่มือการออกแบบส่วนผสม (Job Mix Formula) ที่จัดทำโดยกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้มีประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์และราคากลางงานก่อสร้างทั้งดำเนินการเองหรือจ้างเหมาก่อสร้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ หากมีการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ทั่วประเทศ จะมีระยะทางรวม 75,032 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้น้ำยางสดในปริมาณ 1,440,614.40 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 16,326.9632 ล้านบาท

 

              นายกณรณ์ กล่าวว่าน้ำยางที่ใช้เป็นวัตถุดิบใช้ในการผสมในโครงการฯ ต้องใช้น้ำยาง สหกรณ์สวนยางและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. รับรองเท่านั้นล่าสุดนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศสำรวจความต้องการก่อสร้างถนนยางพาราขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ต้องการสร้างถนนกี่สาย ระยะทางกี่กิโลเมตร เพื่อจะได้ทราบความต้องการใช้น้ำยาง

 

                อีกทั้งขอให้กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมาประชุมทำความเข้าใจเรื่องการสร้างถนนยางพารา  เพื่อให้ทุกท้องถิ่นดำเนินการได้ทันทีในปีใหม่ เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศและเป็นการพัฒนาคุณภาพถนนและพื้นผิวการจราจรให้มีความทนทานแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยจากมาตรการต่างๆ ในการเร่งดูดซับปริมาณยางออกสู๋ระบบตลาดนั้นทำให้ภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันปรับตัวขึ้นกิโลกรัมละ 2 บาทแล้ว

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ