ข่าว

"ป้าทุบรถ"แพ้คดีฟ้องเพิกถอนข้อบัญญัติกทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ป้าทุบรถ"แพ้คดีฟ้องเพิกถอนข้อบัญญัติกทม.จัดผังสร้างอาคารย่านสวนหลวงใหม่ ชี้กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจโดยชอบออกข้อบัญญัติปรับพื้นที่รอบสวนหลวง ร.9 สร้างอาคาร


              4 ธันวาคม 2561 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ "นายประกาย วิบูลย์วิภา" ตุลาการศาลปกครองเจ้าของสำนวน และองค์คณะรวม 3 คน มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีหมายเลขดำ 1678/2559   

 

 

              กรณีที่ น.ส.รัตนฉัตร , น.ส.บุญศรี , น.ส.แสงหยก และ น.ส.ราณี แสงหยกตระการ 4 พี่น้อง ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพัก ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9 ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องพิพาทเป็นหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบ กรณีการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ในท้องที่แขวงหนองบอน แขวงประเวศ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2532

 

              โดยให้สามารถสร้างบ้านแฝด บ้านแถว อาคารอยู่อาศัยรวมได้จากเดิมห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ซึ่งมีการแก้ไขความสูงอาคารจากเดิมที่ห้ามไม่เกิน 15 เมตร ก็เป็นให้อาคารสูงไม่เกิน 23 เมตร และ 45 เมตร โดยผู้ฟ้องทั้งสี่ เห็นว่าข้อบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ที่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค.59

 

              โดย"ศาลปกครองกลาง" พิจารณาข้อเท็จจริงในคดี ประกอบกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า การดำเนินการเพื่อให้มีการออกข้อบัญญัติกรุงเทพฯ ดังกล่าว เพราะมีประชาชนและผู้ประกอบการขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื่องจากข้อบัญญัตินั้นมีผลใช้บังคับมานานแล้วไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสำนักผังเมือง หน่วยงานของกรุงเทพฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า สภาพพื้นที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญของเมือง การขยายตัวของประชากร และศักยภาพในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น จึงเสนอให้แก้ไข

 

              เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ.2556 ที่กำหนด ที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณ ย.3 (สีเหลือง) ให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่น โดยสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาแล้วก็เห็นชอบรับร่าง พร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเนื้อหาร่าง รวมทั้งได้ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้ว กระทั่งมีการลงนามโดย ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และลงประกาศราชกิจจาฯ บังคับใช้เป็นกฎหมาย

 

              จึงแสดงให้เห็นว่า การออกข้อบัญญัติฯ นั้นเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ พ.ศ.2528 และเนื้อหาที่ปรับลดพื้นที่ควบคุมการสร้าง ดัดแปลง การใช้อาคารที่เดิมใช้แนวคลองธรรมชาติ เป็นให้ใช้แนวขนานห่างออกจากแนวสวนหลวง ร.9 ออกไป 300 เมตร และการแก้ไขให้สร้างบ้านแฝด อาคารอาศัยรวมได้ด้วย จากเดิมที่ให้สร้างเฉพาะบ้านเดี่ยวนั้น ก็เป็นการใช้ดุลพินิจในการออกกฎให้เหมาะสมสอดคล้องสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญของเมือง การขยายตัวของประชากร ที่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2532-2559 แล้ว

 

              การที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ อ้างว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ นั้นขัดต่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย.2514 และ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรโดยจะต้องก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปตามแผนผังที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินเท่านั้น "ศาล" เห็นว่า แม้ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ นี้ จะแก้ไขแตกต่างจากเดิมข้อกำหนดเดิม แต่การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การก่อสร้าง ดัดแปลง จะเปลี่ยนแปลงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคารกับประกาศคณะปฏิวัติ และกฎมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยยังต้องดำเนินให้เป็นไปตามโฉนดที่ดิน แผนผัง โครงการ วิธีการแนบท้ายใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ ไม่ขัดต่อ ประกาศคณะปฏิวัติ และพ.ร.บ.จัดสรรที่ดินดังนั้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

 

              ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว "น.ส.รัตนฉัตร" กล่าวว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ  มีถึง 51 ฉบับ แต่กทม.กลับอาศัยปัญหาเรื่องการก่อสร้างตลาด มาเจาะจงแก้ไขข้อบัญญัติฉบับนี้ เพื่อที่จะได้สามารถดัดแปลงการใช้พื้นที่ในบริเวณที่เกิดปัญหาให้สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงเกินกว่า 15 เมตรได้ โดยอ้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์มากกว่า 30 ปีซึ่งไม่ควรนำเรื่องของความเจริญมาปรับใช้กับพื้นที่อนุรักษ์

 

              อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ในเนื้อหาของคำพิพากษาก็ระบุให้ดัดแปลงการใช้พื้นที่ต้องยึดประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 และพ.ร.บ.จัดสรรที่ดินฯ รวมถึงรายละเอียด แผนผังโครงการ สัญญาแนบท้ายการจัดสรรที่ดิน โฉนดของผู้ถือครองที่ดินเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้อยู่อาศัยได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ก็เกิดจากคนที่ไม่รักษากฎหมายอาศัยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ดังนั้นคิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยโดยรอบสวนหลวง ร. 9 จะต้องคอยตรวจสอบการปฏิบัติของกรุงเทพมหานครหากว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและกระทบสิทธิของตนเองก็ต้องออกมาต่อสู้  อย่าละเลย  ต้องออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะเดือดร้อนถาวรตลอดไป 

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีสำหรับข้อพิพาทเรื่องการอนุญาตก่อสร้างตลาดนัดเขตประเวศ ย่านหมู่บ้านเสรีวิลล่า ที่เป็นข้อพิพาท จนเกิดเหตุเจ้าของบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากสุขอนามัย ความสะอาด และการจอดรถขวางหน้าบ้าน จนต้องทุบรถกลุ่มผู้ที่มาใช้บริการตลาดนัดรอบหมู่บ้าน มีคดีที่เกี่ยวข้องอีกทั้งคดีอาญา และคดีปกครอง 

 

              โดยคดีปกครองอีกสำนวน ที่กลุ่ม "พี่น้องแสงหยกตระการ" ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม., ผอ.เขตประเวศ ,สำนักงานเขตประเวศ และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 คดีหมายเลขดำ ส.1/2555 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาาลปกครองกลาง ข้อพิพาทเรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย , ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างล่าช้า กรณีได้รับความเดือดร้อนรำคาญและเสียหายจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดรอบบ้านพักอาศัย 5 แห่งซึ่งขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตลาด และให้หน่วยงานทางปกครอง-เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการประกอบกิจการตลาดในหมู่บ้านนั้น

 

              โดยมีผู้ประกอบการตลาดสวนหลวง , ตลาดรุ่งวานิชย์ , ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต และตลาดยิ่งนรา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อพิพาทนั้น ได้เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดที่ร่วมนำเอกสารหลักฐานแสดงให้ศาลร่วมพิจารณาด้วยนั้น "ศาลปกครองกลาง" ได้มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ค.61 ที่ผ่านมา ให้ผู้ว่าฯ กทม. – ผอ.เขตประเวศ ใช้อำนาจควบคุมอาคารไม่ให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องทั้งสี่ รวมทั้งเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารและให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องทั้ง 4 คนด้วย

 

              ขณะที่คดีอาญา "น.ส.รัตนฉัตร" และน.ส.มณีรัตน์ แสงภัทรโชติ อายุ 61 ปี ก็ถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนง ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 กรณีร่วมกันได้ใช้ขวานและเหล็กยาวทุบทำลายรถยนต์กระบะ นิสสัน รุ่นนาวารา สีขาว หมายเลขทะเบียน ฎค 9297 กรุงเทพมหานคร ของ น.ส.รชนิกร เลิศวาสนา อายุ 37 ปี ที่จอดขวางบริเวณประตูทางออกหน้าของตัวเองในหมู่บ้านเสรีวิลล่า โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

              โดยในส่วนของ "น.ส.รชนิกร" ก็ถูกอัยการและพี่น้องแสงหยกตระการ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนง ในความผิดฐานจอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกอาคารฯ และก่อความเดือดร้อนรำคาญฯ ด้วย ซึ่งศาลเพิ่งมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ให้จำคุก 15 วัน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

 

 


        

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ