ข่าว

ไม่รับแนวทางแก้หนี้"ม็อบเกษตรกร"ขู่บุกกรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ม็อบเกษตรกรกฟก.ลั่นขนเครือข่ายหนี้สิน 4 พันคนชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯหลัง 15 พ.ย.นี้ประกาศสู้ตาย ไม่รับแนวทางแก้หนี้ของ "กฤษฏา"

 

 

               9 พฤศจิกายน 2561 นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าคณะอนุกรรมการประสานเจรจาหนี้สินสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)  

 

 

               ได้นัดหมายให้ผู้แทนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาหนี้สินอยู่มาประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขในวันที่ 15 พ.ย.โดยตนเองและนางนิสา คุ้มกอง ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรภาคกลาง พร้อมเกษตรกร 150 คน ที่ปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯมากว่า 3 สัปดาห์ ยืนยันว่ากฟก.จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรไปเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ตัดเงินต้น 50% และหยุดดอกเบี้ย โดยกฟก.ไปซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ ซึ่งเกษตรกรพร้อมผ่อนชำระกฟก.ที่มีเงื่อนไขช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรผ่อนระยะยาวกว่าธนาคาร

 

               นายยศวัจน์ กล่าวว่าสำหรับแนวทางของนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯในฐานะประธานกฟก.ชุดเฉพาะกิจ จะเป็นคนกลางให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้สิน กับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นั้น กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เนื่องจากเห็นว่าตามระเบียบของกฟก. สามารถใช้แนวทางการซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการได้เอง ทั้งนี้ หากในวันที่ 15 พ.ย. ยังตกลงกันไม่ได้ จะนำเกษตรกรจากทั่วประเทศราว 4 พันคน มาชุมนุมในกรุงเทพฯมาสมทบกับม็อบเกษตรกรที่หน้ากระทรวงเกษตรฯและจะไม่ยอมถอย

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการแก้ไขหนี้ชุดเฉพาะกิจ ที่มีนายกฤษฏา เป็นประธานได้ดำเนินการครบ 180 วันหลังจากที่ครม.ได้ขยายเวลาตามภารกิจมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งนี้ยังมีหน้าที่กำหนดวันเลือกตั้งเพื่อให้ได้คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯแทนชุดรักษาการกฟก.ในปัจจุบัน  

 

              รวมทั้งที่ผ่านมาคกก.ชุดเฉพาะกิจ ได้เห็นชอบปรับปรุงกฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯโดยแก้ไขมาตรา 16,23 และ37/9ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้วมีเนื้อหาปรับปรุงการบริหารระบบงานของสำนักงานกองทุน ตามข้อสังเกตของสตง.ปรับปรุงประสิทธิภาพสำนักงานกองทุนฯด้านบัญชี การจัดการภายในและศักยภาพพัฒนาเกษตรกร พร้อมกันนี้อนุมัติโครงการฟื้นฟูเกษตรกรให้กับองค์กรเกษตรกร 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วม 10,659 ราย วงเงิน67.03 ล้านบาท ฟื้นฟูเกษตรกรประสบอุทกภัย 1,114 โครงการ และกฟก.ได้ช่วยแก้หนี้ให้เกษตรกรผ่านเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติไปแล้ว 55,515 ราย หนี้ 9,796 ล้านบาท

 

             รวมทั้งกรณีแก้หนี้ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.แบ่งเป็น กฟก.ซื้อหนี้และธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ 1,518 ราย หนี้ 642 ล้านบาท กรณีเกษตรกรขาดคุณสมบัติตามระเบียกฟก.โดยกระทรวงเกษตรฯร่วมกับกฟก.เป็นคนกลางเจรจากับเจ้าหนี้ ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เสียกับธ.ก.ส. 36,605 ราย มูลหนี้ 10,200 ล้านบาท ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ลดต้นครึ่งหนึ่งและดอกเบี้ยทั้งหมด ให้ผ่อนชำระส่วนต้นที่เหลือภายใน 15 ปี

 

             ส่วนลูกหนี้ธนาคารรัฐ เป็นหนี้เสีย 2,389 ราย หนี้ 630 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้สหกรณ์ 15,973 ราย 2,345 ล้านบาทและลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 573 ราย 383 ล้านบาท ปรับลดต้นครึ่งหนึ่ง ผ่อนส่วนที่เหลือภายใน วันที่ 30 มิ.ย.62 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ