ข่าว

นายกฯไม่ฟันธงรื้อบ้านพักศาลรอยุติธรรมชงแผน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายกฯ"เผยให้"ยธ."เสนอแผนสร้าง"บ้านพักตุลาการ"ที่เชียงราย แทนเชิง"ดอยสุเทพ"ระบุรื้อของเดิมหรือไม่ดูอีกที 

 

 

            6 พฤศจิกายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับบ้านพักข้าราชการตุลาการภาค 5 หรือป่าแหว่งเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 

 

 

             โดยบอกว่า เรื่องบ้านพักตุลาการได้บอกไปแล้วให้กระทรวงยุติธรรมให้เสนอแผนงานโครงการขึ้นมาที่จะย้ายไปอยู่ที่จ.เชียงรายจะไปก่อสร้างกันที่นั่น ระหว่างนี้ต้องให้เวลากับคนที่อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ป่าแหว่งที่อยู่มาก่อนโดยจะเร่งสร้างแล้วเอาคนเหล่านี้ออกไป ซึ่งจะไม่มีคนอยู่ทั้งหมดไม่อยากให้เคลื่อนไหวกันไปกันมาเสียเวลาเปล่าๆ เรื่องจะรื้อไม่รื้อจะไปดูอีกที ทำอะไรต้องมีความรอบ มันก็ง่ายตนไม่ได้บอกว่าจะรื้อหรือไม่รื้อ อย่าไปเขียนให้มันงงไปหมด

 

            ส่วนเรื่องการก่อสร้างที่สร้างไปแล้วถูกกฎหมายหรือไม่ต้องไปดูว่าอนุมัติกันมาว่าอย่างไรตั้งแต่เมื่อไหร่ สร้างกันมาได้มันถูกหรือมันผิด ถ้าอนุมัติหมดทุกอันในรัฐบาลของรัฐบาลก่อนๆมาถ้าคิดว่ามันถูกมันก็ถูก แล้วตนถึงได้ตามแก้นี่ไง บางครั้งต้องแก้ไขฟังเสียงประชาชนดูบ้าง 

              

            นายกฯ กล่าวว่า หลายเรื่องวันนี้รัฐบาลพยายามดูแลทุกอย่างทั้งคำร้องเรียนหรือความคิดเห็นที่เข้ามาทั้งในโซเชียลมีเดียหรือตามสื่อต่างๆ ตนก็รับมาพิจารณาทั้งหมดไม่เคยลืมเรื่องอะไร เพียงแต่ว่าต้องให้เวลาส่วนราชการในการแก้ปัญหามันไม่ง่ายนักหรอก การแก้ปัญหาที่มันทับซ้อนหมักหมมมานานบางทีมันก็แก้ไขยากลำบาก มันต้องทยอยดำเนินการทีละเรื่องทีละเปาะไป ตนก็คาดหวังอย่างยิ่งรัฐบาลต่อไปใครจะเป็นก็แล้วแต่ คงต้องให้มันได้แล้วอย่าให้มีปัญหาขึ้นมาอีกก็แล้วกันไม่อย่างนั้นมันก็ทับซ้อนกับสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้เข้าไปอีกหมักหมมไปเรื่อยๆเราก็ติดอุปสรรคต่างๆทั้งปวง ประเทศไทยเราก็ใช้ศักยภาพได้ไม่เต็มที่ 

              

            นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ กล่าวว่า ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯไปดูมิติของการใช้ที่ดินของรัฐในอนาคตอย่างเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐที่ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขนบ ธรรมเนียมประเพณี ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของประชาชน เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก เพราะเครือข่ายภาคประชาชนให้ความสำคัญกับดังกล่าว ส่วนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าแหว่งจะมีแนวทางการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ