ข่าว

คุ้มครองสิทธิฯเปิดเวปรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุ้มครองสิทธิฯเปิดเวปรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต-เปิดเวทีรับฟังทั่วภูมิภาคก่อนชงเข้าครม.พ.ย.นี้ ย้ำให้สิทธิอยู่ร่วม-จัดการมรดก สถานภาพยังไม่ใช่คู่สมรส

               

          กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ -  5 พ.ย.61  นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่อจดทะเบียนให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ว่า ขณะนี้กรมฯได้เปิดเวปไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องดังกล่าว และในวันที่ 12-16 พ.ย.นี้ จะเปิดเวทีวิพากษ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยจะเปิดเวทีที่โรงแรมมิราเคิล  ส่วนในต่างจังหวัดก็จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่ จ.เชียงใหม่และจ.พระนครศรีอยุธยา และในพื้นที่ภาคใต้ที่ อ .หาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อนจะสรุปเนื้อหาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับล่าสุดจะมีทั้งสิ้น 70 มาตรา ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับภาคประชาสังคมเสนอแนวคิดพร้อมแก้ไขปรับปรุง โดยสาระสำคัญของร่างฯยังเน้นการแก้ปัญหาให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว และใช้สิทธิในการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งการระบุถึงทรัพย์สินที่ทั้ง 2 ฝ่ายสร้างมาด้วยหลังจากใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และการจัดการมรดกหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ซึ่งการแก้ไขร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขในประเด็นที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับได้สิทธิที่ควรจะเป็น
 

 

 

          รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตยังคงใช้คำว่า"คู่ชีวิต"เหมือนเดิม เนื่องจากสถานภาพยังไม่ใช่คู่สมรส แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ยืนยันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับล่าสุดให้สิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงสถานภาพของผู้จดทะเบียนสมรสแล้ว ซึ่งการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นำสาระสำคัญต่างๆเทียบเคียงกับของต่างประเทศ โดยบางประเทศได้ให้สิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจดทะเบียนเป็นคู่สมรส ขณะที่บางประเทศจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตแต่ก็ยังมีการแยกย่อยลงไปอีกว่าเป็นคู่ชีวิตประเภทไหน หรือบางประเทศก็ให้สิทธิชาย-หญิงที่ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งในประเด็นนี้ คณะกรรมการยกร่างฯกม.ก็ได้มีการหารือกัน แต่ในที่สุดได้ลงมติว่ายังไม่สามารถเข้าถึงความเดือดร้อนหรือสิทธิความต้องการอย่างแท้จริงของคนกลุ่มนี้ได้จึงไม่นำประเด็นนี้เข้ามาบรรจุในร่างกฎหมาย
         "ส่วนนายทะเบียนผู้ทำหน้าที่จดทะเบียนคู่ชีวิตนั้น  ในร่างกฎหมายระบุชัดเจนว่า ให้กรมการปกครองเป็นผู้ดำเนินการเพราะถือว่าเป็นการจดทะเบียนครอบครัว ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ยังไม่ทราบว่าหากกฎหมายถูกเสนอเข้าไปยังครม.แล้วจะมีกระทรวงใดถูกตัดออกไปบ้าง ดังนั้นในร่างกฎหมายจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมการปกครองไว้ก่อน ซึ่งหากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องการจดทะเบียนฯก็สามารถเดินทางมาแจ้งความประสงค์ที่ได้ทุกอำเภอ เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรส"นายเกิดโชคกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ