ข่าว

สูญเงิน 450 ล้าน ร้องดีเอสไอสอบแชร์ทุเรียนอบแห้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหยื่อแชร์ทุเรียนอบแห้งภาคตะวันออกร้องDSIรับคดีพิเศษ หลังถูกหลอกร่วมทุนเสียหายกว่า 450 ล้าน ทนายความเผยคดีฉ้อโกงไม่คืบตำรวจส่งฟ้องผู้ต้องหาไม่ทันจนต้องปล่อยตัว

 

          กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 18 ต.ค.61 นายคมชลัช ศรศิริ ทนายความ พร้อมนายนรินทร์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ตัวแทนผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้ลงทุนทุเรียนอบแห้งในภาคตะวันออกยื่นหนังสือร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้รับสวนคดีพิเศษกรณีน.ส.สุนทรี ภิญโญ และน.ส.ชนัดดา แจ่มใส ซึ่งหลอกให้ร่วมทุนในธุรกิจดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูง โดยมีพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

 

          นายนรินทร์ กล่าวว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมาน.ส.สุนทรีกับพวก ได้หลอกลวงว่าทำธุรกิจส่งออกทุเรียนอบแห้งขายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกิจการดีแต่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนที่ไม่พอที่จะขยายกิจการ จึงชักชวนตนและผู้เสียหายคนอื่นๆให้ร่วมลงทุน โดยเสนอให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนร้อยละ 10 ต่อเดือน บางคนได้รับผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากการขายเป็นถุง

 

สูญเงิน 450 ล้าน ร้องดีเอสไอสอบแชร์ทุเรียนอบแห้ง

 

          นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก ชักชวนชาวบ้านให้ร่วมลงทุนอีกหลายกลุ่ม ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจถูกกฎหมายและได้ตรวจสอบเอกสารรับรองบริษัทฟรุตส์แอนด์ฟู้ด เทรดดิ้ง(ไทยแลนด์ จำกัด) ซึ่งมีน.ส.สุนทรี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และมีตราประทับของบริษัทสอดคล้องกับนามบัตรของ น.ส.สุนทรี ส่วนน.ส.ชนัดดา ได้นำหนังสือรับรองบริษัทแจ่มใสดราย ฟรุ๊ดส์ เทรดดิ้ง(ประเทศไทยจำกัด) ที่มีชื่อของน.ส.ชนิดดา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ตนจึงเชื่อว่าบุคคลทั้ง 2 ทำธุรกิจทุเรียนอบแห้งจริง จึงตกลงเซ็นสัญญาตกลงร่วมลงทุน สัญญาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 22 มี.ค.61 ลงทุนงวดแรก 15 ล้านบาท โดยระบุในสัญญาว่าจะจ่ายเงินปันผล 2 ล้านบาท ทุก 15 วัน และผู้ร่วมลงทุนสามารถถอนเงินลงทุนคืนได้ทันที โดยน.ส.สุนทรี ได้ออกเช็คชำระหนี้ล่วงหน้างวงเงิน 17 ล้านบาท คือ เงินต้น 15 ล้านบาทและเงินปันผลอีก 2 ล้านบาท 

 

          นายนรินทร์ กล่าวอีกว่า ต่อมาในเดือนเม.ย. บุคคลทั้ง 2 ได้แจ้งว่ากิจการกำลังขยายตัวเงินลงทุนไม่พอ จึงขอให้ลงทุนเพิ่มอีก 10 ล้านบาท และจะได้เงินปันผลคืน 1.3 ล้านบาทในทุกๆ 15 วัน พร้อมออกเช็กล่วงหน้าไว้ให้อีก 11.3 ล้านบาทหลังจากนั้นผู้ต้องหาทั้ง 2 ยังหลอกให้ร่วมลงทุนเพิ่มอีก 2 ครั้งในเดือนพ.ค.วงเงิน 10ล้านบาทและ 25 ล้านบาท รวมเงินลงทุนที่เสียหายไปจำนวน 60 ล้านบาท ที่ผ่านมาผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์ที่ สภ.เสม็ด อ.เมืองจ.ชลบุรี และสถานีตำรวจภูธรอื่นๆในพื้นที่เกิดเหตุและได้ติดตามผลการแจ้งความร้องทุกข์มาโดยตลอด กระทั่งทราบว่าเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาครบผลัดฟ้องฝากขัง 7 ผัด ตำรวจส่งสำนวนฟ้องให้อัยการไม่ทันจึงส่งสำนวนไปให้อัยการจังหวัดชลบุรี โดยไม่มีการสืบสวนขยายผลเส้นทางการเงินของผู้ต้องหา กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวมาร้องขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ

 

          ด้านนายคมชลัช กล่าวว่า ผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนจะทำสัญญาแตกต่างกันไปตามจำนวนเงินที่นำไปลงทุน รายที่ลงทุนจำนวน 10 ล้านบาทจะได้เงินปันผลร้อยละ 5 ในทุก 15 วัน ซึ่งมีการจ่ายเงินปันผลประมาณ 3 งวด พอครั้งที่ 4 จะไม่ได้รับเงินปันผล ผู้เสียหายจึงทยอยเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ความเสียหายกระจายอยู่ในพื้นที่จ.ชลบุรี ระยองแต่ตำรวจกลับทำสำนวนฟ้องไม่ทันและไม่มีการประสานกับปปง.ให้อายัดบัญชีเงินฝากของผู้ต้องหา และได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้ว ขณะนี้มีผู้เสียหายเกินกว่า 50 คนความเสียหายรวมกว่า 450 ล้านบาท


          ขณะที่พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องทุกข์จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงหากคดีมีมูลเข้าลักษณะที่จะรับไว้เป็นคดีพิเศษได้ก็จะทำความเห็นเสนออธิบดีดีเอสไอให้อนุมัติรับคดีไว้สอบสวนต่อไป.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ