ข่าว

(ฉบับเต็ม) คุก "อดีตปลัดสุพจน์" ปกปิดทรัพย์สินกว่า 20 ล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงที่สุดแล้ว พิพากษายืนห้าม "อดีตปลัดสุพจน์" ดำรงตำแหน่ง จนท.รัฐ 5 ปี ชี้ เป็นผู้บห.ระดับสูงทำผิดเอง แม้ไม่เคยต้องโทษ-มีคุณงามความดี แต่ไม่พอฟังให้รอลงอาญา

 

          ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 18 ต.ค.61 เวลา 10.45 น.องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์รวม 9 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมี "นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์" รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อม.27/2560 ที่ "นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม" อายุ 65 ปี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมระหว่างปี 2552-2554 ผู้คัดค้าน ยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาองค์คณะศาลฎีกาฯ 9 คนที่มีนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 26 ก.ย.60 พิพากษาให้จำคุกนายสุพจน์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงกรณีพ้นจากตำแหน่ง รวม 5 กระทงๆ ละ 2 เดือน เป็นจำคุกทั้งสิ้น 10 เดือน  และมีคำสั่งห้ามนายสุพจน์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมวันที่ 18 พ.ค.55 ด้วย

 

          กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลังจากเมื่อปี 2555 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้อกล่าวหานายสุพจน์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จเกี่ยวกับเงินจำนวน 17,553,000 บาทเศษ และรถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน (Volk Swagen) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 20,473,000 บาท โดยการกล่าวหานั้นสืบเนื่องจากเหตุคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย.54 ซึ่งคนร้ายที่ร่วมทำผิดคดีอาญาได้ให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินว่าพบเงินสดในบ้านนายสุพจน์นับร้อยล้านบาท โดยนายสุพจน์ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงิน 17 ล้านบาทเศษและรถโฟล์คสวาเกนได้

          โดย "นายสุพจน์" ผู้คัดค้าน ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 195 วรรคสี่ ให้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขณะที่ "นายสุพจน์" ก็ได้ยื่นประกันตัวไปในชั้นอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ที่ศาลตีราคาประกัน 2 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 

          ซึ่งวันนี้ "นายสุพจน์" และทนายความ มาศาล พร้อมฟังคำพิพากษา โดยมีครอบครัวและคนใกล้ชิดร่วม 10 คนมาให้กำลังระหว่างฟังคำตัดสินด้วย
          โดย "องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน" พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสุพจน์ ผู้คัดค้าน เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ,กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) , ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 54 ผู้คัดค้านอยู่ในงานแต่งงานของบุตรสาว มีคนร้ายบุกปล้นบ้านผู้คัดค้านเอาทรัพย์สินไป ต่อมาตำรวจจับกลุ่มคนร้ายดังกล่าวได้และยึดเงินสดจำนวน 18,121,000 บาท กับทองคำรูปพรรณน้ำหนัก 10 บาทที่คนร้ายได้นำเงินสดที่ปล้นไปซื้อมา จากนั้น ป.ป.ช. ผู้ร้อง ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุสงสัยว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ และทำการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน พร้อมนำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้านผู้คัดค้าน พบรถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน ต่อมา ป.ป.ช. มีมติว่าเงินของกลาง 17 ล้านบาทเศษและรถตู้ดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน ส่วนเงินของกลางอีก 568,000 บาทเป็นเงินที่ได้รับมอบในงานสมรสของบุตรสาว ป.ป.ช.จึงมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีคำสั่งให้เงินสดและรถยนต์ตู้ดังกล่าวพร้อมทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้าน รวมจำนวน 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

          ส่วนคดีนี้ ป.ป.ช.ขอให้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้าน จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานบอร์ด รฟท.ครั้งที่ 3 , บอร์ด บมจ.การบินไทย , ประธานบอร์ด รฟม.ครั้งที่ 3 มาแล้ว 1 ปี และกรณีพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม และพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาแล้ว 1 ปี รวม 5 บัญชี และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง 

          ซึ่ง "องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์" พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นตำแหน่ง 1 ปี ซึ่งมีเนื้อหาต่างกับกฎหมายเดิม ปี 2542 จึงต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายก่อนว่า การกล่าวหาผู้คัดค้านยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดหลังพ้นตำแหน่ง 1 ปีตามคำร้องของ ป.ป.ช.นั้นยังเป็นความผิดอาญาอยู่หรือไม่ "องค์คณะ" เห็นว่าแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายเดิมปี 2542 แต่ก็มีบทบัญญัติกำหนดให้กรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลก่อนกฎหมายใหม่นั้น ยังสามารถใช้กฎหมายเดิมอยู่ได้ ดังนั้นคดีที่ฟ้องนี้ถือว่ายังใช้กับกฎหมายเดิมปี 2542 ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ดังนั้นการกระทำของผู้คัดค้านจึงยังเป็นความผิดอาญา และต้องห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี        

  ส่วนที่ "นายสุพจน์" ผู้คัดค้าน ยื่นคำร้องขอรับสารภาพ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ เนื่องจากผู้คัดค้านเคยรับราชการด้วยความสุจริต ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ธรรมาภิบาลมาโดยตลอด เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบหรือทำความผิดอาญา รักษาผลประโยชน์ราชการนั้น

          "องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์" มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยสมควร ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมและกำกับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้คัดค้านเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก
          อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ในคดีที่อัยการสูงสุด ฟ้องขอให้ทรัพย์ของ "นายสุพจน์" ตกเป็นของแผ่นดินนั้นศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน มูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ การที่ผู้คัดค้านปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินตามคำร้องทั้งสองรายการมีมูลค่าสูงถึง 20,473,000 บาท ทั้งที่ผู้คัดค้านเป็นผู้บริหารระดับสูง ควรที่จะต้องยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม แต่กลับมากระทำความผิดเสียเองนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำความผิด และเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้คัดค้าน
ดังนั้นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก "นายสุพจน์" โดยไม่รอการลงโทษมาก่อนนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น "องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์" จึงพิพากษายืนให้จำคุก 10 เดือนและห้ามนายสุพจน์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลา 5 ปีนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมวันที่ 18 พ.ค.55 โดยให้ออกหมายขังผู้คัดค้านตามคำพิพากษาถึงที่สุด พร้อมให้คืนหลักทรัพย์ประกันตัว 2 ล้านบาทกับผู้คัดค้านด้วย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทางครอบครัวและคนใกล้ชิดที่เดินทางมาให้กำลังใจได้ร่ำไห้เข้าไปกอด "นายสุพจน์" พร้อมพูดคุยกันก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำ ซึ่ง"นายสุพจน์" ก็มีสีหน้าเศร้า น้ำตาซึม แต่ก็พูดปลอบใจครอบครัวว่า "แป๊บเดียว" จากนั้นอดีตปลัดคมนาคม ก็ถอดสิ่งของมีค่า ฝากให้ครอบครัว ก่อนที่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมราชทัณฑ์ คุมตัว "นายสุพจน์" ขึ้นรถตู้ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปจากศาลฎีกา ในเวลาประมาณ 11.30 น.ไปรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว

          สำหรับคำพิพากษาเดิมในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น "นายสุพจน์" ต่อสู้ว่าเงิน 17 ล้านบาทเศษและรถโฟล์คสวาเกนนั้นไม่ใช่ของตน โดยเป็นของนายเอนก จงเสถียร นักธุรกิจฟิล์มถนอมอาหารและได้คืนให้กับนายเอนกไปแล้ว ต่อมาภายหลังนายเอนกได้มอบรถคันดังกล่าวให้กับวัดแห่งหนึ่งเพื่อใช้ประกอบกิจของสงฆ์ ส่วนเงิน 17 ล้านบาทเศษที่เป็นของกลางคนร้ายอ้างว่าปล้นมาจากบ้านโดยหลังเกิดเหตุ "นายสุพจน์" ได้แจ้งความว่าเงินหาย 5,068,000 บาทซึ่งเป็นเงินสินสอดในงานแต่งบุตรสาวและภายหลังเสร็จสิ้นพิธีก็ได้คืนให้กับบุตรสาวและบุตรเขย จึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน 2 รายการนี้ นอกจากนี้การไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ชี้มูลความผิดให้ตนได้แก้ข้อกล่าวหาแต่มาดำเนินการภายหลัง

          แต่ "ศาล" เห็นว่าเงินที่เกิดเหตุปล้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย.54 นั้น ตามคำให้การของคนร้ายฟังได้ว่า นำไปแต่เงินสดจำนวนมากที่นายสุพจน์เก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้นำเงินสินสอดไปด้วย จึงเชื่อว่าจำนวนเงินที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จฯ จำนวน 17,553,000 บาทนั้นเป็นเงินก้อนเดียวกับที่ถูกปล้นบ้าน ไม่ใช่เงินสินสอด ซึ่งนายสุพจน์จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินในส่วนนี้ 

          ส่วนรถโฟล์คสวาเกน มูลค่า 3 ล้านบาท ที่นางนฤมล ภรรยานายสุพจน์อ้างว่าเป็นรถที่นายอเนก มอบให้เป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเหลืองานสอนเด็กและเผยแพร่ศาสนานั้น  ศาลเห็นว่าระยะเวลาการไปช่วยงานเพียง 2 เดือนและเป็นการช่วยงานเพียงครั้งคราว แต่กลับได้รถมูลค่าถึง 3 ล้านบาท แตกต่างจากพนักงานบริษัทที่ทำงานประจำได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 30,000 -50,000 บาท และยังมีหลักฐานว่าในการชำระเงินซื้อรถ นายอเนกได้มอบเงินให้กับนางนฤมลหลายครั้ง ซึ่งมีพิรุธและเสี่ยงต่อการสูญหาย อีกทั้งการจดทะเบียนเลขทะเบียน ก็เป็นเลขกลุ่มเดียวกับเลขทะเบียนรถของบุตรสาวนายสุพจน์ แต่ไม่ใกล้เคียงกับกลุ่มรถของนายอเนกที่มีอยู่หลายคัน ขณะที่ความสัมพันธ์นายเอนกกับนายสุพจน์ ก็ปรากฏว่าระหว่างที่นายสุพจน์เป็นกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายเอนกก็ได้ทำสัญญาทางธุรกิจกับกลุ่มคิงพาวเวอร์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ในชื่อผู้อื่น โดยมีวัดเป็นผู้ครอบครองชั่วคราว และเป็นทรัพย์สินที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งแม้จะมีทรัพย์สินเพียง 2 รายการ แต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่านายสุพจน์ไม่ประสงค์ที่จะให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สินหลังจากการพ้นตำแหน่ง ประธานบอร์ด รฟท. , บอร์ดการบินไทย , ประธานบอร์ด รฟม. ครั้งที่ 3 และการพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม กับการพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาแล้ว 1 ปี จึงเป็นการจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ รวม 5 ครั้งในทรัพย์สินชุดเดียวกัน

----

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ