ข่าว

"เกษตรฯ"ดัน"ปลากัด"เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกษตรฯ"ดัน"ปลากัด"เป็นสัตว์น้ำประจำชาติกระตุ้นรายได้ปีละ 1 พันล้านบาทส่งออกกว่า 100 ประเทศ มีถิ่นกำเนิดในไทยแห่งเดียว ผูกพันคนไทยกว่า 667 ปี

 

               11 ตุลาคม 2561 “เกษตรฯ"ดัน“ปลากัด”เป็นสัตว์น้ำประจำชาติกระตุ้นรายได้ชุมชนอีก 20 เปอร์เซ็นต์จากปีละ 1 พันล้านบาทส่งออกกว่า 100 ประเทศ มีถิ่นกำเนิดในไทยแห่งเดียว ผูกพันคนไทยกว่า 667 ปี

 

 

 

             ในการจัดแถลงข่าว”ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ” โดยนางสาวอรมรรัตน์  เสริมวัฒนากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมง  และนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กล่าวว่านายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเต็มที่ให้ปลากัด เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำสวยงามอีกชนิดหนึ่งที่กรมประมง กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญในการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าภาคการเกษตรของไทย เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เนื่องจากปลากัดไทยเป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0  จนปลากัดของไทยกลายเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากลและเป็นสินค้าส่งออกไปกว่า 100 ประเทศ 

 

               กรมประมงได้เล็งเห็นศักยภาพและเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ของเกษตรกรไทย จึงได้ผลักดันให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เพื่อเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ให้สัตว์น้ำสวยงามไทย ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมไทยมายาวนานกว่า 667 ปี ที่สามารถยืนยันชัดเจนว่าปลากัดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยแห่งเดียว หรือไทยแลนด์โอนลี่ โดยเอกสารทางประวัติและการค้นคว้าอย่างละเอียดร่วมกับผู้รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของปลากัดไทยทุกแขนง ระบุเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี มาสมัยรัชกาลที่ 1 ค้นพบที่คลองอัมพวา และรัชกาลที่ 3 มอบของขวัญเป็นปลากัดให้กับนายแพทย์ชาวต่างชาติที่มาทำการรักษาพระองค์ สมัยรัชกาลที่ 7 พบการเลี้ยงปลากัดแพร่หลายไปถึงตะเข็บชายแดนไทย

 

               รวมทั้งบทละครอิเหนา ยังกล่าวถึงการจัดงานมีถึง 12 ชาติ เข้ามาดูบ่อนกัดปลาของไทย อีกทั้งมีความผูกพันกับคนไทยมาช้านานในเรื่องเครื่องรางของขลังให้ค้าขายดี เพราะปลากัดเป็นนักสู้ว่ายน้ำเก่ง เช่น หลวงปู่นวม เกจิดัง จ.สุพรรณบุรี และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระเครื่อง ที่รู้จักกันดี รุ่นหลวงพ่อปานขี่ปลากัด คนไทยเชื่อมั่นเรื่องความว่องไวค้าขาย ภาพวาดที่วัดหลวงพ่อโสธร มีรูปปลากัดถวายดอกบัวให้พระพุทธเจ้า จนมาถึงอดีตอธิบดีกรมประมงคนแรก ดร.ฮิว สมิท ที่เป็นชาวต่างชาติ ได้เข้ามาค้นคว้าพันธุ์ปลากัดไทยลงพิมพ์ในวารสาร”โคเปียย์”ของสหรัฐฯ สายพันธุ์ Betta Splendens มีลักษณะ เกล็ดลำตัวและคลีบหางมีสีเขียวแดง ซึ่งจะใช้ปลากัดตัวต้นแบบนี้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

 

              ได้รับคำถามจากสำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ถามว่าปลากัดไทยมีเฉพาะไทยแลนด์โอนลี่ หรือไม่ ซึ่งได้ไปค้นพบหนังสืออุนกรมวิธาน ปรากฎในเอกสารทางวิชาการชัดเจนเก็บตัวตัวอย่างปลากัดสีเขียวแดงที่แม่น้ำสาขาที่เชื่อมจากแม่น้ำ ส่วนประเทศสิงคโปร์ ยังระบุว่าปลากัดส่งมาจากไทย มาค้าขาย และทำไมเรียกปลากัดจีน ปลากัดอินโด ปลากัดมาเลย์ ซึ่งเรายืนยันได้ตัวที่เบต้าสเปนเดนส์ อยู่ที่ไทย มีการนำไปสร้างสายพันธุ์หลากหลายขึ้นมาตามความต้องการผู้เลี้ยง          

 

              ที่ผ่านมาไทยมีดอกคูณ เป็นดอกไม้ประจำชาติ ช้างไทย เป็นสัตว์ประจำชาติ ซึ่งสัตว์น้ำอื่น ๆ ยังมีลักษณะเด่น เช่นปลากัดไทย ที่สามารถผสมพันธุ์ทำให้มีสีสันลวดลายต่าง ๆ สวยงามแปลกตา และเป็นนักสู้ การยกเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ อาศัยตามตามพ.ร.ก. ประมง  พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ร.บ.มรดกภูมิปัญญา 2559 ซึ่งปลากัดขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2556  ถ้าเราสามารถประกาศเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ จะขยายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีภาพปลากัดว่ายอย่างสวยงาม เช่นโทรศัพท์ไอโฟนนำไปเป็นหน้าวอลล์ ให้เห็นจากสนามบิน นักธุรกิจจะไปถึงฟาร์ม ยังพัฒนาสินค้าต่าง ๆสร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

              หากปล่อยเวลาไป อาจเป็นไชสนิสเบต้า อเมริกันเบต้า อินโดเบต้า วันนั้นคนไทยคงพูดไม่ออก เพราะขณะนี้ประเทศรอบบ้านเราพัฒนาแข่งขันกันมาก เช่นอินโดนีเซีย กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในการส่งออกแต่ยังใช้เส้นทางผ่านไทย ทั้งนี้จากผลการศึกษาประเทศออสเตรเลีย ประกาศให้หมีอะโคล่า เป็นสัตว์ประจำชาติ ทำให้คนมีงานทำเกี่ยวเนื่องกว่า 9 พันคนและรายได้เข้าประเทศเพิ่ม 1 ล้าน ๆ ดอลลาร์ ส่วนไทยคาดว่ารายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากที่ผ่านมามีพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์และขยายสู่เชิงพาณิชย์ สามารถสร้างอาชีพหลักและสร้างรายได้เสริม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท

 

              นายเฉลิมชัย  กล่าวว่าขณะนี้กรมประมงได้พยายามดำเนินการขับเคลื่อนให้มีการประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติอย่างเต็มที่ หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเห็นชอบตามมติการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560  ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นควรให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาก่อน

 

              ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้มีการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อประโยชน์ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้รับเรื่องดังกล่าวมาทบทวนตามข้อเสนอแนะ  และได้มีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ปลากัดไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้  

 

              อย่างไรก็ตาม กรมประมง ยังเห็นถึงความสำคัญของการที่จะนำเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ จึงได้มุ่งมั่นค้นคว้ารวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วนต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึก มิติด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี มิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากมีขั้นตอนตามระบบราชการ ซึ่งกรมประมงจะพยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้กรมประมงพร้อมที่เสนอให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนนี้และนำเสนอเข้าครม.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ