ข่าว

ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกษตรฯ-จับมือสาธารณสุข"ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศ ตรวจหาสารพิษตกค้างพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

            28 กันยายน 2561 "กระทรวงเกษตรฯ-จับมือสาธารณสุข"ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศ ตรวจหาสารพิษตกค้างพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

 

 

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันดำเนินโครงการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด ตามเกณฑ์มาตรฐานของไทย ซึ่งการดำเนินงานในปี 2561 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดทั้งหมด 41 ชนิดพืช รวม 7,054 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ ผ่านมาตรฐานร้อยละ 88.8 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 11.2  และเมื่อนำปริมาณสารพิษที่ตรวจพบในผักและผลไม้สดมาประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค พบว่า 99.86 % อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

 

ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

 

            นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบูรณาการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีการตรวจวิเคราะห์ จำนวน 4,518 ตัวอย่าง และประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค ซึ่งได้จัดแถลงข่าวให้ประชาชนได้ทราบไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2560 สำหรับในปี 2561 ได้มีการเตรียมการตั้งแต่ต้นปี โดยการวางแผนการเก็บตัวอย่าง และการเฝ้าระวังร่วมกัน เพื่อให้การดูแลเฝ้าระวัง ครอบคลุมกระบวนการผลิตและจำหน่ายผักผลไม้ ตั้งแต่ ฟาร์ม โรงคัดบรรจุ ไปจนถึง จุดจำหน่ายและบริโภค รวม 7,054 ตัวอย่าง ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ครอบคลุม และนำไปใช้ประโยชน์ในการวางมาตรการกำกับดูแลของภาครัฐได้ดีที่สุด

 

            สำหรับในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรเก็บตัวอย่างจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 2,007 ตัวอย่าง และแปลงที่อยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (GAP)  จำนวน 2,372 ตัวอย่าง รวม 4,379 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่า ตัวอย่างที่เก็บจากแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 93.7 ส่วนแปลงที่อยู่ระหว่างขอรับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 91.0  ซึ่งทั้งสองแหล่งมีผลการวิเคราะห์ใกล้เคียงกัน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ซึ่งจะมีเกณฑ์ที่ควบคุมดูแลการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด

 

  ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

 

            " ทั้งนี้อาจยังมีเกษตรกรรายที่พบการใช้สารเคมีไม่ถูกอยู่บ้าง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะแจ้งผลการตรวจพบที่เกินมาตรฐานและแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หากแนวทางแก้ไขปรับปรุงไม่ได้ผลและตรวจพบปัญหาซ้ำ กรมวิชาการเกษตรจะพิจารณาให้พักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช หากเป็นแปลงใหม่ผลการตรวจประเมินไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบรับรอง GAP ให้เกษตรกรรายนั้น ๆ หรือหากตรวจพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามนำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง จะสั่งเพิกถอนใบรับรองและสารวัตรเกษตรจะเข้าติดตามตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายสารเคมี ทางการเกษตรในพื้นที่ หากพบการกระทำผิดจะแจ้งเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป "

 

            นางสาวจูอะดี กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมกอช.เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรและปรับปรุงมาตรฐานให้เป็นปัจจุบันตามข้อมูลการใช้สารเคมีของไทยและตามมาตรฐานสากล รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ในกรณีที่ตรวจพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เพื่อร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดต่อไป   

 

ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

   

           นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการเก็บตัวอย่างจากโรงคัดบรรจุผักผลไม้ ทั้งหมด 715 ตัวอย่าง ผลการตรวจผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 85.6  และสำหรับการเก็บตัวอย่างในจุดจำหน่ายและจุดบริโภค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า 1,317 ตัวอย่าง ตลาดค้าส่งและตลาดสด 481 ตัวอย่าง และจากครัวโรงพยาบาล 162 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่าตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้านั้น สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ 86.4% สินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านเกณฑ์ 71.8 % ตลาดค้าส่งและตลาดสด ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 64.9  ครัวโรงพยาบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 77.8  

 

ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

 

            ทั้งนี้ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข จะมีการพัฒนาและยกระดับโรงคัดบรรจุ ให้มีมาตรฐานและระบบตามสอบย้อนกลับให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 ซึ่งจะเป็นการเสริมความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น และในส่วนของตลาดสดจะมีการบูรณาการเพื่อพัฒนาให้ถูกอนามัยและปลอดภัย รวมทั้งโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยจะมีมาตรการการจัดทำเมนูล่วงหน้า และมีการประสานกลุ่มบริษัทประชารัฐเพื่อรวบรวมวัตถุดิบ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่เพิ่มแหล่งวัตถุดิบที่ได้การรับรองมาตรฐาน 

 

            รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจของกระทรวงสาธรณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ผักและผลไม้สดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100 % 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก และข้าวโพดหวาน  พบสารพิษต่ำมาก โดยผักและผลไม้สดที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า ส้ม มะเขือ และมะเขือเทศ แต่ทั้งนี้ยังมีความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากสารตกค้างนี้จะเกิดอันตรายต่อเมื่อผู้บริโภค บริโภคในปริมาณมากเท่านั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคอาหารที่หลากหลายไม่บริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ มากเกินไป ส่วนส้มซึ่งเป็นพืชที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หากปอกเปลือกแล้วจะทำให้ปริมาณสารพิษตกค้างลดลงกว่าร้อยละ 90 หรือหากจะนำส้มไปคั้นน้ำ ควรล้างเปลือกด้านนอกให้สะอาดก่อน

 

ขู่ ! เพิกถอนGAPเคมีตกค้างผัก-ผลไม้

 

            “ ก่อนการบริโภคผักและผลไม้สด ผู้บริโภคควรล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดเพื่อลดการตกค้างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีการดังนี้ (1) การล้างผักผลไม้ด้วยวิธีล้างน้ำไหล จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-65 (2) หากล้างในปริมาณมากใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที ก่อนล้างน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 90-95 หรือ (3) ใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาที ก่อนล้างน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 60-84 ”นายแพทย์ธเรศ กล่าว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ