ข่าว

เดือด ! "ก.ต.ฎีกา"ย้อนคณะผู้พิพากษาล่าชื่อถอดถอนบิดเบือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชำนาญ รวิวรรณพงษ์"เเจงยิบข้อเท็จจริงคดีมรดกตระกูลภรรยาปมมีส่วนได้เสียคดี ยก 9 ประเด็นย้อนคณะล่าชื่อแต่งเรื่อง ชี้พิรุธวันเดียวยื่นร้องเรียน 3 ฉบับ แถมถ้อยคำไ

 

            24 กันยายน 2561 "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) ชั้นศาลฎีกา ได้ยื่นเอกสารคำชี้แจงต่อผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม 

 

            ทั้งนี้ภายหลังกลุ่มผู้พิพากษาที่ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และบางส่วนเป็นผู้พิพากษาศาลสูงกับผู้พิพากษาอาวุโส จำนวน 1,734 เข้าชื่อเสนอให้ถอดถอน "นายชำนาญ" พ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ช้นศาลฎีกา กล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.หรือไม่ จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ โดยเอกสารคำชี้แจงของ "นายชำนาญ" มีจำนวน 13 หน้า ได้ชี้แจงอย่างละเอียดแยกเป็น 9 ประเด็น

 

            ซึ่งวันนี้ (24 ก.ย.) ครบกำหนดเวลา 7 วันที่ต้องส่งคำชี้แจงให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมตามขั้นตอน ก่อนจะปิดประกาศให้ทั่วสำนักงานศาลทั่วประเทศ ประกอบการพิจารณาลงคะแนนเสียงของผู้พิพากษาทั่วประเทศว่าจะลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายชำนาญ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งถือเป็นระบบการตรวจสอบภายใน

 

            สำหรับคำชี้แจงของนายชำนาญทั้ง 9 ประเด็น มีเนื้อหาสรุปดังนี้ 1.หลังวิกฤติที่ ก.ต. 2 คน แย่งกันเป็นประธานศาลฎีกา เป็นเหตุให้ผู้พิพากษา 11 คนถูกไล่ออกจากราชการ ผมเป็นคนนำหลักสำคัญที่ว่า "ข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าในทางใด ต้องให้ผู้พิพากษานั้นรู้ข้อเท็จจริงโดยถูกต้อง ครบถ้วน และต้องให้โอกาสผู้พิพากษานั้นชี้แจงอย่างเต็มที่" การลงมติที่ขัดกับหลักการดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้ ก.ต.ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายคน มติ ก.ต.จึงต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งผมผลักดันมาโดยตลอด เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง

 

             2.ก.ต.ยังคงฝ่าฝืนหน้าที่ต้องฟังความ 2 ฝ่าย ดังกรณีของนายศิริชัย วัฒนโยธิน (อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งมติก.ต.เสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาตามลำดับอาวุโส) ที่โต้แย้งว่าการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อปีที่ผ่านมาไม่ชอบ เนื่องจากมีเพียงบัตรสนเท่ห์และเป็นเรื่องที่อนุก.ต.หยิบยกขึ้นมาเอง การพิจารณาของอนุก.ต.และก.ต.ยังไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเต็มที่ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีผลสรุปว่านายศิริชัย กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผลของการกระทำเป็นเหตุให้นายศิริชัยไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา หรือกรณีแต่งตั้งอื่นอีก

 

            3.หลังวิกฤติก.ต.ที่ก.ต.ฝ่ายชนะรังแกผู้พิพากษาที่อยู่ข้างฝ่ายแพ้ ผมจึงเสนอให้มี ก.ต.บุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจป้องกัน ก.ต.รังแกผู้พิพากษาด้วยกันเอง แต่ปรากฏว่าก.ต.บุคคลภายนอกไม่ได้ทำหน้าที่สมดังเจตนารมณ์ ดังกรณีนายศิริชัยที่ถูกกล่าวหาว่าโอนสำนวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีสำนวนใดเป็นเช่นนั้น หรือที่นายสืบพงษ์เคยแถลงในฐานะโฆษกศาลยุติธรรมว่านายศิริชัย ช็อปปิ้งผู้พิพากษา ดังนั้น ก.ต.บุคคลภายนอกจึงไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ที่จะมีอีกต่อไปในโครงสร้าง ก.ต. จึงต้องมีการสังคายนาวิธีปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต.และอนุก.ต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา เพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะแกล้งกล่าวหากัน ไม่ใช่หนทางสุภาพบุรุษ

 

            4.แม้ผมจะเป็นคนวางหลักการฟังความ 2 ฝ่าย และหลักข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและมีโอกาสชี้แจงอย่างเต็มที่ แต่ในการพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาของผมเมื่อวันที่ 6 ส.ค.61 ทั้งอนุ ก.ต. และก.ต.กลับไม่ยึดถือหลักการดังกล่าว แม้ อนุ ก.ต.จะเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา แต่ในการพิจารณา ก.ต.และอนุ ก.ต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายต่อผม ไม่ได้แจ้งและให้ผมชี้แจงข้อเท็จจริงที่ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งถูกร้องเรียนกล่าวโทษว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่ออนุ ก.ต.ที่เป็นผลร้ายต่อผมในการไต่สวนเพื่อแต่งตั้งผมให้ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา

 

            ผมแจ้งให้ ก.ต.ทราบว่าเป็นการไต่สวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ดำเนินการไต่สวนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ ก.ต.ยังคงฝ่าฝืน ผมจึงแจ้งว่าจะดำเนินคดีทั้ง ก.ต.และอนุ ก.ต. แต่สุดท้ายผมเห็นว่าหากดำเนินคดี ก.ต. ซึ่งรวมทั้งประธานศาลฎีกาด้วยเพียงเพื่อตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาจะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมเสียหาย ผมจึงตกลงกับประธานศาลฎีกาว่าหากประธานศาลฎีกาโอนคดีตามที่โจทก์ขอให้โอนคดีจากศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะผู้พิพากษาศาลจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตั้งแต่นายสืบพงษ์ อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 2 , นายวราวุธ ถาวรศิริ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 , นายพัลลอง มั่นดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา , น.ส.มณี สุขผล และองค์คณะกับเจ้าของสำนวนใหม่ ตามบันทึกเหตุการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 ของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ที่ผมได้แจ้งให้ ก.ต.ทราบด้วยแล้ว ผมจะไม่ดำเนินคดีกับ ก.ต.

 

            5.การให้ความเป็นธรรมเบื้องต้นในการบันทึกคำเบิกความพยานให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา แต่ น.ส.มณี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ปฏิบัติผิดแผกแตกต่างจากผู้พิพากษาอื่น ผมจึงร้องเรียนนายสืบพงษ์ในวันที่ 25 มิ.ย.61 และเป็นที่มาของการแต่งเรื่องเท็จในครั้งนี้ของ น.ส.มณี, นายพัลลอง เพื่อปกปิดการกระทำของ น.ส.มณี ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิ.ย.61 และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวกที่กระทำต่อเนื่องมาในวันที่ 3 ส.ค.61 ซึ่งโจทก์ในคดีได้ร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกาแล้ว

 

            6.คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยฐานยักยอกทรัพย์บริษัทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกภรรยาของผมกับโจทก์ และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา ซึ่งบิดามอบหมายให้ภรรยาผมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีบิดา , มารดา และภรรยาผม , ตัวโจทก์ , จำเลย เป็นผู้ถือหุ้น โดยบิดาเป็นกรรมการบริษัท ต่อมาเมื่อบิดา-มารดาถึงแก่กรรม ภรรยาของผมในฐานะทายาทและผู้ถือหุ้นของบริษัทมอบหมายให้โจทก์ ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรรมการบริษัทและทายาทผู้ครอบครองทรัพย์สินของบริษัทที่เป็นทรัพย์มรดก เป็นคดีอาญาหลายคดีทั้งในศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและศาลอื่น ในหลายฐานความผิด เช่น ฐานเบิกความเท็จ ยักยอกทรัพย์มรดกฯ และฐานตั้งบริษัทค้าขายแข่งขันกับธุรกิจบริษัท

 

            คดีทั้งหมดจึงเป็นคดีที่ภรรยาผมมีส่วนได้เสียโดยตรง ปัญหามีว่าผมมีส่วนได้เสียหรือไม่ คำตอบโดยเปรียบเทียบง่าย ๆ จะเห็นได้ชัดแจ้งว่าหากคดีทั้งหมดขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ผมไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี ผมจึงไม่ใช่เป็นเพียงสามีของพี่โจทก์เท่านั้นดังที่นายสืบพงษ์กับพวกบิดเบือน นายสืบพงษ์กับพวกรู้อยู่แล้วว่า ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 31 บัญญัติว่า "ผู้พิพากษาจักต้องไม่รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนในการดำเนินคดี หรือรับเป็นผู้เรียง ผู้เขียน ผู้พิมพ์คำคู่ความ คำร้อง คำขอ หรือคำแถลงในคดีใดๆ" ...เว้นแต่เป็นกรณีที่ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิตหรือเกี่ยวพันทางแต่งงานซึ่งผู้พิพากษาเป็นญาติสนิทมีส่วนได้เสียในคดีหรือเรื่องนั้นโดยตรง เมื่อรู้อยู่แล้วว่าผมและภรรยาผมมีส่วนได้เสียในคดีทั้งหมดโดยตรงแต่ก็ยังพยายามบิดเบือน 

 

 

            โดยการนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 22 มิ.ย.61 ทนายโจทก์ได้ถามค้านจำเลย น.ส.มณี บันทึกคำเบิกความด้วยเสียงเบาจนทนายโจทก์ไม่สามารถรู้ได้ว่าบันทึกอย่างไร ตรงและครบถ้วนในสาระสำคัญหรือไม่ เมื่อเสร็จการพิจารณาและฟังคำเบิกความ ทนายโจทก์บอกผมว่า น.ส.มณีไม่บันทึกคำเบิกความที่จำเลยตอบคำถามค้าน และบันทึกคำเบิกความไม่ตรงกับที่จำเลยเบิกความ

 

            ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย.61 ทนายโจทก์ได้ขอคัดถ่ายสำเนาคำเบิกความของจำเลยมาให้ ผมอ่านแล้วปรากฏว่าเป็นดังที่ทนายโจทก์แจ้ง เช่น ทนายโจทก์ถามค้านจำเลยว่า ที่จำเลยอ้างว่าขายที่ดินได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 50 ล้านบาทนั้น มีโฉนดที่ดินหรือมีหลักฐานใดมาแสดง จำเลยตอบว่า "ให้ทนายโจทก์ไปหาเอง" แต่ น.ส.มณี ก็ไม่บันทึก ทั้งที่รู้ว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน การที่จำเลยตอบให้ไปหาเองแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่มาของเงินที่จะนำมาซื้อที่ดินนี้ แต่ปรากฏว่า น.ส.มณี ไม่ยอมบันทึกคำถามและคำเบิกความดังกล่าว

 

            เมื่ออ่านจบผมได้โทรศัพท์ถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าโจทก์จะร้องเรียนผู้พิพากษา แจ้งเพียงชื่อ น.ส.มณี ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดเนื่องจากจะส่งเป็นหนังสือ หลังจากนั้นนายสืบพงษ์โทรศัพท์หาผม แก้ตัวแทน น.ส.มณี ขอว่าอย่าร้องเรียน และจะส่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มาร่วมพิจารณาคดีด้วย ต่อมาผมปรึกษาภรรยาและโจทก์ว่า คดีของครอบครัว อย่าให้ผู้พิพากษาต้องเดือดร้อนเลย ปล่อยให้เป็นเวรกรรมของเขาไปเอง วันรุ่งขึ้นผมโทรศัพท์บอกนายสราวุธ (เลขาธิการสำนักงานศาลฯ) ว่าจะไม่ร้องเรียนแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้พิพากษาต้องมาเดือดร้อนเพราะเรื่องของครอบครัวผม

 

            วันที่ 2 ก.ค.61 วันนัดสืบพยานจำเลยต่อ นายสืบพงษ์ไม่ส่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มาร่วมพิจารณาคดี น.ส.มณี ก็ปฏิบัติเช่นเดิมอีก ทนายโจทก์ว่าความได้ประมาณ 1 ชั่วโมงจึงขออนุญาตออกไปนอกห้องพิจารณาเพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะว่าความต่อไป ผมขอให้ทนายโจทก์ว่าความต่อแต่ทนายโจทก์ยืนยันไม่ยอมว่าความและขอให้ผมดำเนินคดีแก่ น.ส.มณี แต่สุดท้ายก็ยอมกลับมาว่าความต่อ เมื่อเสร็จการพิจารณาคดีช่วงเช้า ทนายโจทก์โกรธผมที่ไม่ดำเนินการใด ๆ แก่ น.ส.มณี ทั้งที่เป็น ก.ต. เห็นการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้ ทั้งอธิบดีฯ ก็ไม่ส่งรองอธิบดีฯ มาดูแลตามที่บอก ช่วงบ่ายทนายโจทก์ยืนยันว่าขอถอนตัว ให้ผมหาทนายสำหรับคดีนี้ใหม่

 

            จากนั้นในช่วงบ่าย ไม่มีการพิจารณาคดี ผมและผู้รับมอบฉันทะนั่งรอรับคำสั่งเกี่ยวกับการถอนทนายและวันนัด ระหว่างนั้นนายพัลลอง, น.ส.มณี และ น.ส.ตรีทิพย์ วิเศษจินดา ลงมา นายพัลลองให้หน้าบัลลังก์โทรศัพท์ตามทนายโจทก์ให้กลับมาว่าความต่อ หน้าบัลลังก์ออกไปโทรศัพท์ กลับมาบอกนายพัลลองว่าทนายโจทก์บอกขอถอนตัวแล้วไม่กลับมา ทนายจำเลยไม่คัดค้าน นายพัลลองให้เลื่อนคดีไป ต่อมา 3 ส.ค.61 โจทก์มอบฉันทะให้ยื่นคำร้องคัดค้าน น.ส.มณี ว่าโจทก์ได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ และจะขอให้ท่านประธานศาลฎีกาโอนคดีไปศาลอื่น แต่ น.ส.มณี ยังคงออกนั่งพิจารณาคดีร่วมกับ น.ส.ตรีทิพย์ และนายวราวุธ และในวันที่ 31 ก.ค.61 น.ส.มณี, นายพัลลอง, นายสืบพงษ์ และ น.ส.ตรีทิพย์ มาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.เป็นปฏิปักษ์ต่อผม

 

            เมื่อโจทก์คัดค้าน น.ส.มณี จึงถอนตัว เปลี่ยนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะใหม่ พร้อมด้วยนายวราวุธขึ้นพิจารณาคดี ได้สั่งคำร้องของโจทก์ว่า ไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ทนายโจทก์ถอนตัว ทั้งยังว่าโจทก์ประวิงคดี ให้งดการถามค้าน ให้ทนายจำเลยถามติง และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 ก.ย.61 ทั้งที่เพิ่งเปลี่ยนผู้พิพากษาและทั้งสามท่านเพิ่งรับสำนวน หากตรวจสำนวนก็จะรู้ว่าโจทก์ไม่เคยประวิงคดี มีคำถามค้านที่จะถามจำเลยอีกมาก โจทก์ฟ้องจำเลยอีกหลายคดี ไม่มีเหตุที่จะต้องประวิงคดี มีแต่จะต้องเร่งให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้โจทก์ต้องขอให้ประธานศาลฎีกาโอนคดีและขอให้สอบสวนการกระทำของนายสืบพงษ์กับพวก

 

            7.นายสืบพงษ์รู้อยู่แล้วว่า น.ส.มณี ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.61 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและแก้ไข กลับเพิกเฉยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนการแต่งเรื่องอันเป็นความเท็จ ทั้งยังเสนอตัวมาให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต. โดยที่อนุ ก.ต.ไม่ได้เชิญ ผิดปกติวิสัยของอธิบดีผู้พิพากษาทั่วไป ยิ่งกว่านั้นยังส่งนายวราวุธมานั่งพิจารณาคดีในวันที่ 3 ส.ค.61 ทั้งที่ในวันที่ 2 ก.ค.61 ไม่ส่งมาตามที่เสนอกับผม ยังให้ น.ส.มณี กับ น.ส.ตรีทิพย์ ขึ้นพิจารณาคดีพร้อมกับนายวราวุธทั้งที่รู้ว่าโจทก์ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.มณี และให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.เป็นปฏิปักษ์ต่อผม  ไม่เพียงแต่ขัดต่อจิตสำนึก แต่ยังขัดต่อจริยธรรมของคนเป็นผู้พิพากษา

 

            เรื่องที่นายสืบพงษ์กับพวกแต่งขึ้นว่า "นายชำนาญลุกขึ้นพูดด้วยเสียงอันดังว่า ทำไมจะไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี...ถ้าไม่บันทึกผมจะร้องเรียน ผมจะตั้งกรรมการสอบถึงไล่ออกเชียวนะ ผู้พิพากษาจึงบันทึกคำพยานไปตามที่นายชำนาญโต้แย้งและพิจารณาคดีต่อไป" นั้นเป็นเท็จ เพราะภายหลังทนายโจทก์ขอถอนตัวเนื่องจากปัญหาในการบันทึกคำพยานของ น.ส.มณี หากผมลุกขึ้นโต้แย้งจน น.ส.มณี ยอมจดบันทึกตามที่ต้องการก็ไม่มีเหตุที่ทนายโจทก์ต้องถอนตัว

 

            ทั้งการกระทำตามที่แต่งเรื่องขึ้นต้องถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แสดงอำนาจบาตรใหญ่ น.ส.มณี หรือองค์คณะจะต้องรีบรายงานให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทราบในทันที หรือให้หน้าบัลลังก์ไปรายงานเพื่อให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมาร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วยทันที แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงาน แต่เพิ่งจะมาทำรายงานเสนอนายสืบพงษ์ ในวันที่ 12 ก.ค.61 ซึ่งเป็นวันเดียวกับ ที่จำเลยยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ทั้งในหนังสือร้องเรียนของจำเลยดังกล่าวก็ไม่มีการร้องเรียนว่ามีการกระทำตามที่ น.ส.มณี รายงาน ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียน จึงไม่น่าเชื่อและไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ร้องเรียนเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ต่อประธานศาลฎีกา

 

            นอกจากนั้น เรื่องที่แต่งขึ้นนี้ น.ส.มณี เองก็เห็นว่าร้ายแรงมากจนทนไม่ได้ เหตุใดจึงไม่ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลหรือรีบรายงานให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีฯ ทราบในทันทีที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับที่นายพัลลองและนายสืบพงษ์ได้รับหนังสือร้องเรียนของจำเลยและหนังสือรายงานคดีของ น.ส.มณี เมื่อวันที่ 12 ก.ค.61 ก็รีบส่งเรื่องถึงท่านประธานศาลฎีกาในวันเดียวกัน และรีบโทรศัพท์แจ้งเลขาธิการสำนักประธานศาลฎีกาทันที แต่ น.ส.มณี ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 10 วัน ส่วนที่แต่งเรื่องว่า "ขอคุยกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนอกห้องพิจารณา" นั้น เป็นเรื่องร้ายแรงและหยามเกียรติของนายพัลลองซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หากเป็นเรื่องจริงนายพัลลองต้องรีบรายงานอธิบดีและประธานศาลฎีกา และต้องลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล ในชีวิตผมไม่เคยกระทำเช่นนี้เด็ดขาด ทั้งหนังสือร้องเรียนของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแค่ทนายจำเลยเห็นผมยืนอยู่กับหัวหน้าศาลท่านหนึ่งบริเวณที่จอดรถในศาล ก็ยังนำมาร้องเรียนต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 1

 

            ส่วนที่แต่งเรื่องว่า "ผมพูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า...ผมเป็นกรรมการสอบผู้พิพากษาคดีศูนย์เหรียญก็เพราะใช้คำว่าดุลพินิจนี่แหละ..." ก็เป็นความเท็จ เพราะผมเป็น ก.ต.ไม่อาจเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนวินัยใครได้ เนื่องจากต้องเป็นคนลงมติในชั้นสุดท้าย และที่แต่งเรื่องว่า "จากนั้นนายชำนาญยังแถลงอีกว่าคดีนี้ทุนทรัพย์สูงมากและทราบว่าโจทก์มีคำถามค้านที่เตรียมไว้มากถึง 400 คำถาม อีกทั้งยังรู้ด้วยว่าต้องใช้เวลาซักค้านอีกประมาณ 3 วัน..." นั้นก็เป็นการบิดเบือน เพราะเมื่อทนายโจทก์ขอถอนตัวจึงไม่มีการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย ไม่มีการแถลงอะไรทั้งสิ้น นายพัลลองให้หน้าบัลลังก์ออกไปโทรศัพท์ตามทนายโจทก์กลับมา ทนายโจทก์ไม่กลับมา นายพัลลองจึงหันมาพูดคุยกับผมลักษณะคุยหารือกันเพราะรู้ว่าผมมีส่วนได้เสียในคดี แต่ไม่ใช่การแถลงคดีเหมือนทนายความหรือคู่ความแถลงเวลาพิจารณาคดี

 

            การตอบคำถามของนายพัลลองจึงไม่ใช่การก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณา นายสืบพงษ์และ น.ส.มณี รู้อยู่แล้วว่าผมมีส่วนได้เสียในคดี แต่บิดเบือนข้อเท็จจริง ส่วนที่แต่งว่าผมมีพฤติการณ์ไม่เคารพผู้พิพากษานั้น จากคำให้การของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิม ต่ออนุ ก.ต. กล่าวชัดเจนว่า เวลาผมไปฟังการพิจารณาคดีไม่เคยแสดงตน จะนั่งฟังอย่างเดียวไม่ได้แทรกแซงการสืบพยานหรือการพิจารณา เมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งพิจารณาคดี ผมลุกขึ้นทุกครั้งทำความเคารพ ไม่เคยชี้หน้าหรือตำหนิผู้พิพากษาในบัลลังก์ และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับการบันทึกคำเบิกความ ผมให้ความเคารพและให้เกียรติยศผู้พิพากษา ไม่เคยแสดงตน ไม่เคยก้าวก่ายหรือยกตนข่มท่านใดๆ ทั้งสิ้น

 

            8.การร้องเรียนในเรื่องนี้มีข้อน่าสงสัย โดยที่ น.ส.มณี แต่งเรื่องขึ้น ทำเป็นบันทึกรายงานนายสืบพงษ์วันเดียวกับที่จำเลยในคดียื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานศาลฎีกา และเป็นวันเดียวกันกับที่ทนายจำเลยยื่นคำแถลงร้องเรียนที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราอีกฉบับ ทั้งที่ทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่นที่โจทก์ฟ้องในศาลแขวงสมุทรปราการ จึงน่าแปลกใจว่าวันเดียวกันมีหนังสือร้องเรียนเรื่องเดียวกันถึง 3 ฉบับ และยังพบพิรุธว่าเมื่อเทียบคำต่อคำในบันทึกของ น.ส.มณี และคำแถลงทนายจำเลยประมาณ 10 บรรทัดเหมือนกันเกือบ 100% ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนกับจำเลยสามารถจดจำได้ตรงกันแทบไม่ผิดเพี้ยน ทั้งที่ระยะเวลาผ่านไป 10 วัน และตรงกับที่ น.ส.มณี บันทึกไว้ในคำเบิกความจำเลยแทบจะไม่มีข้อตำหนิ ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างทนายโจทก์ถามค้าน ซึ่งตามกฎหมายจำเลยไม่สามารถขอคัดถ่ายคำเบิกความได้

 

            9.ประการสำคัญ ภายหลังโจทก์ขอโอนคดี ยังมีผู้พิพากษาระดับสูงที่เป็นผู้บริหารศาลและผู้พิพากษาในภาค 2 นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของจำเลย มาลงเผยแพร่ในไลน์กลุ่มผู้พิพากษา โดยไม่เกรงกลัวความผิด ไม่สมควร ทั้งมีข้อสงสัยว่าหนังสือของจำเลยในคดีมาอยู่ที่ผู้พิพากษาได้อย่างไร การกระทำของบุคคลกลุ่มนี้ เริ่มจากการแต่งเรื่องเท็จ จากนั้นเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทางโซเชียลมีเดีย โดยตรวจพบที่มาจากผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งในภาค 2 ปลุกระดมชวนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ตามที่แต่งเรื่องเกิดขึ้นจริง จากนั้นให้ถ้อยคำต่ออนุ ก.ต.ขัดแย้งกันเองเป็นพิรุธ เมื่ออนุ ก.ต.มีมติเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ก็ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนกดดันการลงมติ ก.ต. และล่ารายชื่อถอดถอน ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการยุติว่ามีการกระทำเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือนายสืบพงษ์, น.ส.มณีกับพวกปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามที่โจทก์ร้องเรียน การกระทำผิดเช่นนี้ผิดวิสัยผู้พิพากษา เสื่อมเสียเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของตุลาการ

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยตอนท้ายของเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของนายชำนาญดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า การกระทำที่นายสืบพงษ์กับพวกที่แต่งเรื่องขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้พิพากษาต้องกระทำในสิ่งถูกต้อง และหาอาจอ้างการกระทำไม่ถูกต้องมาบิดเบือนสร้างความชอบธรรมว่าตนกระทำสิ่งที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้พิพากษาคือ "จิตสำนึก"...หากรู้ว่าสิ่งที่กระทำไม่ถูกต้องยังฝ่าฝืนกระทำลงไป ก็ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสื่อมเสียแก่องค์กรนี้

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการที่รับผิดชอบการจัดให้ลงมติเรื่องเสนอถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒินั้น ก็จะปิดประกาศคำชี้แจงของนายชำนาญ ให้เป็นที่รับทราบทั่วไปสำหรับผู้พิพากษาเพื่อประกอบการพิจารณาลงมติ ที่กำหนดไว้ให้ส่งบัตรลงคะแนนกลับให้สำนักงานศาลยุติธรรมไม่เกินวันที่ 25 ต.ค.นี้เวลา 16.30 น. หลังจากนั้นในวันที่ 26 ต.ค.จะนับคะแนนซึ่งต้องให้ได้คะแนนเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาที่มีทั่วประเทศ คือจำนวนอย่างน้อย 2,243 ราย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ