ข่าว

ส่องเงินเดือน "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล" แดนลอดช่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาชีพนี้ส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน และสนใจที่จะออกไปเป็นสตาร์ทอัพ ขณะที่มีหลายคนที่อยากย้ายไปทำงานในสหรัฐ

          เมื่อพูดถึงอาชีพมาแรงในยุคนี้ อาชีพที่ติดโผอันดับต้นๆ ย่อมต้องมีชื่ออาชีพ “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” หรือ Data Scientist ติดอยู่ในทุกโพลล์สำรวจทั้งไทยและเทศ อีกทั้ง Harvard Business Review ยังยกให้เป็น “อาชีพเซ็กซี่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21”

          และแน่นอนว่า เครดิตความแรงของสาขาอาชีพใหม่นี้ก็ได้แรงหนุนมาจากความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งทุกๆ นาทีมีปริมาณข้อมูลมหาศาลทั้งที่เป็นข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ หลั่งไหลผ่านเครือข่ายออนไลน์และโซเชียลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เอื้อต่อการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ “รู้เท่าทัน” ข้อมูลบิ๊กดาต้า นำมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรและธุรกิจได้ไวกว่าและเก่งกว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านนี้ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลนั่นเอง

          ขณะที่ฝั่งสหรัฐ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็ติดอันดับอาชีพใหม่มาแรงติดกัน 3 ปีซ้อน เนื่องจากแรงจูงใจของตัวเลขเงินเดือนที่อาจสูงถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน) อีกทั้งมีการคาดการณ์จากไอบีเอ็ม ว่าความต้องการบุคลากรสาขานี้ จะเพิ่มขึ้น 39% ภายในปี 2563

ส่องเงินเดือน "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล" แดนลอดช่อง

เปิดตัวเลขเงินเดือนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในสิงคโปร์

          เว็บไซต์ techinasia.com ได้เปิดเผยผลสำรวจของ Big Cloud ซึ่งมีลูกค้าใหญ่อย่าง Grab และลาซาด้า (Lazada) เกี่ยวกับตัวเลขเงินเดือนของอาชีพมาแรงแห่งยุคนี้ในสิงคโปร์ว่า “เงินเดือนดีมาก” โดยผู้ที่มีประสบการณ์ไม่เกิน 2 ปี จะมีรายได้ต่อปีสำหรับอาชีพนี้เกือบ 60,000 ดอลลาร์สิงโปร์ หรือเดือนละราว 5,000 ดอลลาร์สิงโปร์ (ประมาณเดือนละ 120,000 บาท) เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ ที่มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือกว่า 80,000 บาท) และถ้าระดับอาวุโสจะมีอัตราเงินเดือนสูงถึงกว่า 11,000 ดอลลาร์สิงโปร์ (เกือบ 300,000 บาท)

          ทั้งนี้ จำนวน 27% ของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 200 คนที่อยู่ในกลุ่มสำรวจ บอกว่ามีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 75,000-100,000 ดอลลาร์สิงโปร์ และ 63% บอกว่าพวกเขาได้รับโบนัสประจำปีเฉลี่ยคนละ 16,858 ดอลลาร์สิงโปร์ (ประมาณ 40,000 บาท)

          จากผลสำรวจนี้ ยังพบว่า อาชีพนี้ส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน และสนใจที่จะออกไปเป็นสตาร์ทอัพ ขณะที่มีหลายคนที่อยากย้ายไปทำงานในสหรัฐ

          ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ techinasia.com ยังได้ทำการสัมภาษณ์นาย Lye Kong-wei หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ Grab เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งงานนี้ ซึ่งเล่าว่า เป็นการเขียนอัลกอริธึมส์ สร้างแบบจำลอง และแปลงงานวิจัยต่างๆ ออกมาเป็นการใช้งานจริงได้ และต้องสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย โดยทันทีที่ผู้โดยสารเปิดแอพของ Grab จนกระทั่งเมื่อรถแท็กซี่ Grab ไปถึง ทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้เพื่อตัดสินเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด ประหยัดเวลาเดินทาง และประหยัดค่าโดยสารที่สุดให้กับลูกค้า

          เขายังให้มุมมองเรื่องปัญหาขาดแคลนบุคลากรสำหรับสาขาอาชีพนี้ในภูมิภารคเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ว่า เป็นปัญหาร่วมทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจ แม้กระทั่ง Grab เองก็เผชิญปัญหาข้อนี้ในการหาคนที่เก่งและมีความสามารถเข้ามาร่วมงาน ดังนั้นหนึ่งในทางออกก็คือ สร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมฝึกอบรมบุคลากรออกมาป้อนธุรกิจ วิธีการนี้จะสร้างทั้งความยั่งยืนและเป็นการตอบแทนให้กับสังคม

ส่องเงินเดือน "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล" แดนลอดช่อง

เขียนเรซูเม่อย่างไร ให้ได้งานนี้

          เบ็น ดิแอซ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูล แห่งการไปรษณีย์ของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ซึ่งมีประสบการณ์ในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมากกว่า 10 ปี ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสาขานี้ว่า ข้อมูลพื้นฐานของผู้สมัครที่เขียนอยู่ใน “เรซูเม่” เป็นหนึ่งในตัวตัดสินเบื้องต้นว่า ใบสมัครนั้นจะได้รับการหยิบขึ้นมาพิจารณาเพื่อติดต่อเรียกมาพูดคุยสัมภาษณ์ต่อไปหรือไม่

          ประวัติการศึกษา คือข้อมูลหัวข้อแรกสุดที่ใช้พิจารณา เพราะผู้สมัครต้องมีทักษะที่ดีในสาขาวิชาด้านคณิตศาสตร์ รวมถึงระดับการศึกษา สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในหน้าแรกของเรซูเม่ นอกจากนี้ ต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

          นอกจากนี้ ควรมีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยมาบ้าง เพราะคำจำกัดความของวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็คือ การทำกิจกรรมด้านการวิจัย ที่ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา หลายปัญหาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และวิธีการแก้ปัญหาที่คิดออกมาก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ มันไม่ใช่มีข้อมูลตายตัวที่หยิบมาใช้ได้เลย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้สมัครที่ใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในการสมัครตำแหน่งงานนี้ จำเป็นต้องระบุหัวข้องานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์จบการศึกษาลงในเรซูเม่ด้วย พร้อมกับเขียนบทสรุปย่อเนื้อหาและการทำงานวิจัยภายใน 1 ย่อหน้า เพื่อแสดงทักษะด้านการเขียน

          ขณะที่ สำหรับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโส จะมองลึกลงไปถึงประสบการณ์ทำงานจริงในเรื่องนี้ ว่าผลงานในอดีตสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้กับองค์กรเดิมได้หรือไม่ อย่างไร พร้อมกับบอกด้วยว่า ผู้สมัครงานยุคใหม่โดยเฉพาะในสาขาอาชีพด้านนี้ ไม่ต้องกังวลว่า การใส่ประสบการณ์ความสามารถต่างๆ ที่มี (และดี) จะทำให้เรซูเม่ยาวเกินไป เพราะยุคนี้ถ้าคุณมี “ของดี” ผู้ที่ต้องการสรรหาบุคลากรโดยเฉพาะใน “สาขาหายาก” พร้อมจะอ่านและพิจารณาใบสมัครแน่นอน

ส่องเงินเดือน "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล" แดนลอดช่อง

งานนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทย

          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้เปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ข้อมูลได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าประหนึ่งน้ำมันดิบ บิ๊กดาต้า หรือข้อมูลขนาดใหญ่เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญขององค์กรทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่รวบรวมพฤติกรรม รสนิยม รวมถึงความคิดเห็นของผู้คนบนโลกต่อสิ่งรอบตัวต่างๆ แทบทุกกิจกรรมที่เราทำ ในหนึ่งวันกลายเป็นข้อมูลที่นำ ไปใช้ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสร้างสินค้าและบริการให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้มากขึ้น หรือนำไปใช้เพื่อออกแบบนโยบายภาครัฐให้เข้ากับความต้องการของประชาชน

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในทันที ด้วยขนาด ความเร็ว และความหลากหลายของข้อมูล ทำให้องค์กรต้องการคนที่สามารถทำความเข้าใจข้อมูลและดึงแก่นสำคัญออกมาใช้ได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คือผู้ที่จะเข้ามาจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ ถ้าเปรียบเทียบ บิ๊กดาต้า เป็นน้ำมันดิบ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็คือ วิศวกรปิโตรเลียม ที่ค้นหาและกลั่นกรององค์ความรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ไปให้องค์กรประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการ

          สำหรับประเทศไทย EIC เผยว่า จำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย จากการสืบค้นข้อมูลจาก LinkedIn พบว่าผู้ที่ระบุว่าตนเองทำงานเป็น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ในไทยมีเพียง 200 บัญชี เทียบกับสหรัฐที่มี 44,000 บัญชี ขณะที่ คาดการณ์ว่าความต้องการของตำแหน่งงานนี้ในไทยจะมีมากถึง 2,000 คน และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 15% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

16 กิจกรรมบนโลกออนไลน์ใน นาที

          ข้อมูลบิ๊กดาต้ามาจากไหน? ปริมาณมหาศาลแค่ไหน? คำถามทั้งสองข้อนี้ตอบได้อย่างง่ายดายด้วยชาร์ทวงกลมที่ว่าด้วย “เกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกออนไลน์ใน 1 นาที” ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีโดย Coumlus Media

          สำหรับปี 2561 ได้มีการรวบรวมสถิติกิจกรรมบนโลกออนไลน์ทั้งหมด 16 กิจกรรม ที่เกิดขึ้นทุกๆ 1 นาที ไว้ดังนี้

          มีผู้ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊ก 973,000 คนมีการส่งข้อความผ่านไลน์ 18 ล้านข้อความเข้าไปชมวิดีโอบนยูทูบ 4.3 ล้านคลิปมีการดาวน์โหลดแอพบนกูเกิลเพลย์ และแอพสโตร์ 375,000 แอพเข้าไปดูภาพบนอินสตาแกรม 174,000 คนส่งทวิตเตอร์ 481,000 ข้อความใช้งานแอพหาเพื่อน Tinder 1.1 ล้านครั้งส่งอีเมล์ 187 ล้านเมล์มียอดเข้าชมวิดีโอถ่ายทอดสดบนแอพ Twitch 936,073 ครั้งมีการสั่งงานอุปกรณ์ด้วยเสียง67 ครั้ง

          การส่งข้อความเสียง 38 ล้านข้อความ, การส่งไฟล์ภาพ GIF ผ่านเฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์. 25,000 ภาพ , มีการแคปเจอร์ภาพคู่สนทนาบนแอพวิดีโอแชท Snapchat 2.4 ล้านครั้ง, มีการใช้จ่ายซื้อสินค้า/บริการผ่านออนไลน์ 862,823 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 26 ล้านบาท), มีคนดูหนังผ่าน Netflix รวมกัน 266,000 ชั่วโมง, มีการค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิล 3.7 ล้านครั้ง

///////////////

จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์ คมชักลึก ฉบับวันที่ 22-23 ก.ย.2561

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ