ข่าว

ป้ายเหล็กโฆษณาหักโค่น วางกรวยจราจรป้องกัน ยังไม่เพียงพอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป้ายเหล็กโฆษณาหักโค่น วางกรวยจราจรป้องกัน ... ยังไม่เพียงพอครับ !

 

โดย นายปกครอง

ป้ายประชาสัมพันธ์ขององค์การบริหารตำบลหักโค่นวางพาดอยู่บริเวณขอบทาง แต่ไม่ได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือนหรือติดสัญญาณไฟฉุกเฉิน ทำให้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิตองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ? 

 

หากปรากฏว่าผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุรา มูลเหตุคดีนี้ เกิดจากมีเหตุวาตภัยเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๓ ทำให้ป้ายประชาสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนตำบล หักโค่นวางพาดอยู่บริเวณขอบทางถนน เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลไปตรวจสอบแล้วเห็นว่า ป้ายประชาสัมพันธ์ที่หักโค่นเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก ต้องใช้กำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตัดเหล็ก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถซ่อมแซมหรือเคลื่อนย้ายป้ายประชาสัมพันธ์ให้พ้นจากเขตทางได้ 

 

จึงวางกรวยจราจรรอบบริเวณจุดที่ป้ายหักโค่น โดยไม่ได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือนหรือติดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เนื่องจากเห็นว่าเป็นสามแยกทางหลวงแผ่นดินที่มีแสงสว่างจากเสาไฟและเป็นที่ตั้งจุดตรวจ มีการติดตั้งตู้ไฟสามเหลี่ยมพร้อมสัญญาณไฟวับวาบบริเวณไหล่ถนน


ต่อมาวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. นาย ธ. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนกับเสาป้ายประชาสัมพันธ์ดังกล่าวและถึงแก่ความตาย บิดาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ธ. จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยฟ้ององค์การบริหารตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า (๑) ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากเป็นคดีพิพาทจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐต้นสังกัด  คือ องค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ 

 

(๒) ผลการตรวจวัดจากเลือดของนาย ธ. พบปริมาณแอลกอฮอล์ ๓๓๔.๙ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่า ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามข้อ ๓ (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๔๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (ปัจจุบันข้อ ๓ (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดเพิ่มเติมกรณีผู้ขับขี่มีอายุไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์ ผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาต หากตรวจวัดจากเลือดมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน ๒๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเป็นผู้เมาสุราตามกฎหมาย)

 

(๓) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายปัญหาคือ องค์การบริหารตำบลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอันเกิดจากป้ายประชาสัมพันธ์หักโค่นและเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ธ. หรือไม่

 

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ป้ายประชาสัมพันธ์เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดี จึงมีหน้าที่ทั้งในฐานะเจ้าของทรัพย์ที่จะป้องกันภยันตรายอันอาจเกิดจากทรัพย์ของตนและในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามมาตรา ๖๗ (๔) แห่งพระราชบัญญัติ
สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗
          

การที่เจ้าหน้าที่ไม่อาจซ่อมแซมหรือเคลื่อนย้ายป้ายให้พ้นจากเขตทางในวันเกิดเหตุได้ และได้แก้ไขปัญหาโดยนำกรวยจราจรมาวางไว้โดยรอบบริเวณจุดเกิดเหตุ แต่การปล่อยให้ป้ายซึ่งมีขนาดใหญ่ทิ้งไว้บนขอบทางในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการกีดขวางการจราจรเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาเป็นระยะเวลานานถึง ๑๔ วัน โดยมิได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือนหรือติดสัญญาณไฟฉุกเฉิน จนกระทั่งนาย ธ. ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปถึงบริเวณดังกล่าวประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเป็นการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุหรือเพียงพอกับสถานการณ์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถือได้ว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

  

เมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้องรับผิดมีเพียงใดนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ความความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความประมาทของนาย ธ. จากการเมาสุรา ประกอบกับนาย ธ. จะต้องเดินทางผ่านจุดที่เกิดเหตุไปยังสถานที่ทำงานประจำ จึงย่อมต้องรู้และพึงตระหนักว่าการขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณจุดดังกล่าวจะต้องชะลอความเร็วและขับขี่อย่างระมัดระวังมากกว่าปกติ จึงต้องรับผิดในความเสียหายด้วย ส่วนสัดส่วนจำนวนค่าเสียหายที่แต่ละฝ่ายต้องรับผิดเป็นประการใดนั้น ผู้สนใจศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๕๒/๒๕๖๐ 

  

อุทธาหรณ์คดีปกครองคดีนี้ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมาย จะต้องจัดเตรียมเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอ และจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็วโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมาซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะลดลง อันจะเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้... ครับ (ปรึกษาคดีปกครองได้ ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ