ข่าว

ก.ต.สอบข้อเท็จจริงชั้นต้น"ชำนาญ"ถูกร้องประมวลจริยธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา"ถูกสอบเหตุร้องประพฤติตนไม่เหมาะกลางศาลฉะเชิงเทรา ส่วนผู้พิพากษา 1,735 คน เสนอถอดถอนพ้นหน้าที่ ก.ต.ฎีกา แทรกแซงหน้าที่ศาลชั้นต้น 18

 

          14  กันยายน 2561 "ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา"ถูกสอบเหตุร้องประพฤติตนไม่เหมาะกลางศาลฉะเชิงเทรา ส่วนผู้พิพากษา 1,735 คน เสนอถอดถอนพ้นหน้าที่ ก.ต.ฎีกา แทรกแซงหน้าที่ศาลชั้นต้น  

 

          จากกรณีที่ตลอดช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา 1,735 คน ร่วมลงรายชื่อเสนอให้ถอดถอน "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา ให้พ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ชั้นฎีกา ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอตรวจสอบรายชื่อผู้พิพากษากว่า 1,700 คน

 

          ล่าสุด ในการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา "ที่ประชุม ก.ต." ได้มีมติให้ดำเนินสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้น กับ "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 ที่ว่า "เมื่อข้าราชการในศาลใด ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย
ให้ข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานศาลยุติธรรมนั้น ดำเนินการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นโดยไม่ชักช้า ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต.กำหนด โดย ม.68 วรรคสอง ระบุว่า วิธีการสอบสวนข้อดท็จจริงในชั้นต้นจะทำโดยให้ผู้เกี่ยวข้องชี้เรื่องราวเป็นหนังสือ หรือโดยบันทึกเรื่องราวและความเห็น หรือโดยตั้งคณะบุคคลขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ )

 

          ซึ่งกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน

 

          โดยกรณีที่ ก.ต.มีมติดังกล่าว สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนจากคู่ความในคดีที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะที่ ก.ต.ได้รับทราบการรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงการพิจารณาความเหมาะสมวาระโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการทั่วประเทศ เมื่อช่วง ก.ค.- ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการสั่งสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นกับนายชำนาญ ของ ก.ต.นี้ เกี่ยวกับการรักษาวินัยของผู้พิพากษา ซึ่งขณะเกิดเหตุร้องเรียนนายชำนาญ ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

 

          ส่วนกรณีที่มีผู้พิพากษาส่วนใหญ่ในศาลชั้นต้นและบางส่วนจากศาลสูงระดับอุทธรณ์-ฎีกา และกับผู้พิพากษาอาวุโส 1,735 รายชื่อ โดยนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 (ภาคตะวันออก) , นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้แทน ยื่นเรื่องเสนอต่อ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ลงมติถอดถอน "นายชำนาญ" จากการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกา (ก.ต.ชั้นฎีกา เป็นกระบวนการที่ได้รับเลือกมาจากการลงคะแนนเลือกของผู้พิพากษาศาลฎีกาตามขั้นตอน) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 42 นั้น

 

          ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

 

          ซึ่งกระบวนการอยู่ระหว่าง ตรวจสอบรายชื่อผู้พิพากษาประสงค์เสนอถอดถอนนายชำนาญ ที่จะครบในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 16.30 น. (ครบกำหนด 20 วันนับแต่วันติดประกาศรายชื่อและคำร้องที่ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวให้ทราบ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา) ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในจำนวนและรายชื่อผู้พิพากษา 1,735 คนว่ามีใครคัดค้านเรื่องการลงชื่อหรือถอนตัวจากการเสนอถอดถอนหรือไม่ หากไม่มีก็จะถือว่ารายชื่อสมบูรณ์ ครบจำนวนตามเกณฑ์คือ 1 ใน 5 ของผู้พิพากษาทั่วประเทศ 4,543 ราย (จำนวนผู้พิพากษาตามปรากฏวันยื่น) คือตั้งแต่ 909 ชื่อขึ้นไป

 

          แต่ถ้าพบว่ารายชื่อผู้พิพากษาไม่ครบตามจำนวนก็จะแจ้งให้ผู้แทนของผู้พิพากษาที่เข้าชื่อนั้นทราบ เพื่อจะดำเนินการจัดให้นำรายชื่อเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน ซึ่วหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่ได้เสนอการเข้าชื่อจนครบจำนวน ก็ให้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" จำหน่ายเรื่องการเสนอถอดถอน

 

          ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.จะมีความชัดเจนรายชื่อผู้พิพากษาเสนอเรื่องถอดถอนว่าครบ-ไม่ครบจำนวน ถ้าครบแล้วระหว่างนี้ "นายชำนาญ" ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกาไว้ชั่วคราวก่อน ขณะที่กระบวนการพิจารณาถอดถอนก็จะให้โอกาส "นายชำนาญ" ทำคำชี้แจงส่งมาภายใน 7 วัน (ไม่เกิน 25 ก.ย.) แล้วจะมีการปิดประกาศคำชี้แจงอีก 7 วัน 

 

          หลังจากนั้น จึงเข้าสู่ขั้นตอนการถอดถอน ที่กฎหมายบัญญัติให้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กำหนดวันจัดให้ทีการลงมติถอดถอนภายใน 30 วัน นับจากวันปรากฏชื่อผู้พิพากษาชัดเจน คือภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ คาดว่าจะรู้ว่ากำหนดวันลงมติถอดถอนในวันใด 

 

          ขณะที่กระบวนการจัดให้มีการลงมตินั้น จะส่งบัตรลงคะแนนถอดถอนไปยังผู้พิพากษาทั่วประเทศ แล้วส่งบัตรกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อตรวจนับจำนวนผู้ลงมติถอดถอนซึ่งจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 2,272 คน โดยถ้าผลไม่ถึงตามจำนวน "นายชำนาญ" ก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกาได้ต่อไป แต่ถ้าผลคะแนนได้ตามเกณฑ์คือให้ถอนถอดพ้น ก.ต.แล้วจะทีผลทันที และมตินั้นถือเป็นที่สุด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายชำนาญนั้น ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานี้ถึงอายุราชการ 65 ปี จากนั้นจะได้สิทธิขอและรับเลือกไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนถึงอายุ 70 ปี โดยการโยกย้ายล่าสุดนายชำนาญ ต้องพลาดการขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาชั้นพิจารณาความเหมาะสมการดำรงตำแหน่งจากกรณีที่ถูกร้องเรียนกรณีดังกล่าว

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ