ข่าว

หวั่นลาม ! "ไทย-ลาว"รับมืออหิวาต์แอฟริกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไทย-ลาว"ระดมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดหนักในจีน ประสานด่านชายแดนกักตรวจก่อนปล่อยสินค้า สกัดลามข้ามพรหมแดน เมื่อสุกรติดเชื้อแล้ว ระยะฟักตัวสั้นมาก


         13 สิงหาคม 2561 "ไทย-ลาว"ระดมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดหนักในจีน ประสานด่านชายแดนกักตรวจก่อนปล่อยสินค้า สกัดลามข้ามพรหมแดน เมื่อสุกรติดเชื้อแล้ว ระยะฝักตัวสั้นมากอัตราการตายเกือบ 100%”

                       

           ในการประชุมร่วมคณะกรรมการพัฒนาปศุสัตว์ไทย-ลาว ครั้งที่ 15 และการประชุมทวิภาคีด่านกักกันสัตว์ไทย-ลาว ครั้งที่ 8 ที่จังหวัดกาญจนบุรี มี ดร.สีทอง พิผกาวง เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายลาว ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนจากลาวสอบถามถึงการเตรียมเฝ้าระวังและเผชิญโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไทยได้ดำเนินการแล้ว ผู้แทนจากลาวจึงขอศึกษามาตรการที่ไทยวางไว้ไปเป็นต้นแบบใช้ในลาว

 

          เนื่องจากมีความกังวลว่า โรค AFS ที่กำลังระบาดอยู่ในจีนจะแพร่เข้ามาถึงลาวซึ่งมีพรมแดนติดกัน ซึ่งไทยเตรียมชุดตรวจยืนยันโรค (Test Kit) ให้ลาวนำไปใช้ อีกทั้งจะมีการรายงานภาวะโรคระบาดฉุกเฉิน ทำให้สามารถป้องกันการระบาดของโรคจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง การประสานงานในการตรวจปล่อยสินค้าปศุสัตว์ที่ด่านกักกันสัตว์ของทั้งสองประเทศ  ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคระบาดจากการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดน ทั้งนี้การช่วยเหลือในการป้องกันไม่ให้โรค AFS แพร่เข้ามาในลาว จะเป็นการป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่เข้ามาในไทยโดยง่ายเนื่องจากที่ตั้งของประเทศลาวกั้นระหว่างจีนกับไทยอยู่

 

          ทั้งนี้รัฐบาลจีนกำลังเร่งควบคุมโรค AFS ทั้งเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศรวมถึงลุกลามยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ เนื่องจากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากเชื้อไวรัส เมื่อสุกรติดเชื้อแล้ว ระยะฝักตัวของโรคสั้นมาก มีอัตราการตายเกือบ 100% จึงให้เกษตรกรหมั่นสังเกตอาการของสุกรที่เลี้ยงเนื่องจากบางรายเข้าใจผิดว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาเป็นโรคเดียวกับไข้หวัดหมู ซึ่งไข้หวัดหมู (Swine flu) เกิดจากเชื้อไวรัสก่อให้เกิดโรคทางระบบเดินหายใจของสุกร สุกรที่ป่วยจะมีอาการไอ หายใจลำบาก มีน้ำมูก หนังตาบวมแดง และ ไข้สูง เป็นต้น โดยมีอัตราการป่วยสูงแต่อัตราการตายต่ำ (1-4%)  

 

           การติดต่อในสุกรสามารถติดต่อได้โดยทางตรงจากการสูดหายใจเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสจากสุกรที่ป่วยเข้าไปหรือทางอ้อมจากการสัมผัส ยานพาหนะ หรือ อุปกรณ์เครื่องมือที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ปัจจุบันมีรายงานพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ H1N1 H3N2 และ H1N2 ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกร

 

          โดยมีสุกรป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในอนุภูมิภาคซาฮาราของทวีปแอฟริกา ประเทศซาดิเนียของทวีปยุโรป ต่อมาพบการระบาดของโรคในประเทศจอร์เจีย ประเทศอาเซอร์ไบจัน ประเทศอาร์เมเนีย สหพันธรัฐรัสเซียและล่าสุดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยโรคนี้เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่นสำหรับประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง

 

          เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรค มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 % สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการคล้ายคลึงกับโรคอหิวาต์สุกรและพีอาร์อาร์เอส คือ มีไข้สูง เบื่ออาหาร ท้องเสีย และแท้งในแม่สุกร โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสามารถติดต่อได้จากการที่สุกรสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งของสุกรป่วย การหายใจเอาเชื้อเข้าไป การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมทั้งโดนเห็บที่มีเชื้อกัด เป็นต้น

 

          ทั้งนี้จากผลการสอบสวนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสหพันธ์รัสเซีย พบว่ามีสาเหตุจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในไส้กรอกและซาลามีซึ่งบริโภคแบบไม่ปรุงสุก ที่คนบริโภคไม่หมดแล้วนำไปเลี้ยงสุกร กรมปศุสัตว์จึงขอย้ำให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการใช้เศษอาหารไปเลี้ยงสุกรและหากพบสุกรแสดงอาการป่วยดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ รวมทั้งหากไม่แน่ใจว่า เป็นไข้หวัดหมูหรือโรคอหิวาต์แอฟริกาให้แจ้งทางปศุสัตว์ทันทีเพื่อจะได้ตรวจยืนยันโรค ซึ่งจะทำให้ควบคุมการระบาดได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ