ข่าว

"บิ๊กฉัตร"นำทูต 20 ประเทศติดตามแก้ไอยูยู-พอใจมีความมุ่งมั่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กฉัตร"นำทูต 20 ประเทศติดตามแก้ปัญหาไอยูยูดูระบบตรวจสอบย้อนกลับ การพังซากเรือ หวังนานาชาติเชื่อมั่นไร้ประมงผิดกม.เผยพอใจการทำงานคาดอียูลงตรวจปลายเดือนนี้

 

          12  กันยายน  2561"บิ๊กฉัตร"นำทูต 20 ประเทศติดตามการแก้ปัญหา"ไอยูยู"ดูระบบตรวจสอบย้อนกลับ การพังซากเรือ หวังนานาชาติเชื่อมั่น"ไทย"ไร้ประมงผิดกม.เผยพอใจการทำงานคาดอียูลงตรวจปลายเดือนนี้

 

 

          ที่ จ.สมุทรสาคร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  นำคณะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จำนวน 20 ประเทศ จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกอาเซียนลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อตรวจติดตามการรื้อทำลายซากเรือประมง จำนวน 9 ลำ กลางแม่น้ำท่าจีน พร้อมนำชมการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ ของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน

 

           โดยพล.อ.ฉัตรชัย  กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของไทยมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงไทยได้ทั้งระบบ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ภาพลักษณ์การประมงของไทยในสายตาชาวโลกเกิดเป็นภาพบวก เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในระบบการประมงของประเทศ ที่ผ่านมา ดำเนินการอย่างเข้มข้นที่จะสร้างความชัดเจนของสถานะกองเรือประมงไทย โดยในขณะนี้ กรมเจ้าท่าสามารถประกาศรายชื่อเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ทั้งหมดจำนวน 10,743 ลำ ส่วนเรือประมงที่ถือว่าอยู่นอกระบบอย่างถาวรไม่สามารถกลับเข้าสู่ทะเบียนเรือไทยและเทียบท่าในประเทศไทยได้อีกต่อไป มีจำนวน 6,315 ลำ  

 

          ส่วนเรือประมงที่ผุพังต้องดำเนินการรื้อทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 121 เพื่อไม่ให้มีการนำไปแอบแฝงกระทำผิดกฎหมายได้อีกต่อไป อีกจำนวน 861 ลำ  โดยภาครัฐยังได้บริหารจัดการในการทำประมงให้ถูกต้องปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่เพิ่มเติม สร้างระบบการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผน นอกจากนี้ แก้ไขเรื่องแรงงานประมงทั้งระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการประมงของไทยไร้ซึ่งการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม วันนี้มีการทำลายซากเรือทั้งหมด 9 ลำ จากจำนวน 44 ลำ โดยการรื้อทำลายเช่นนี้จะดำเนินการจนครบ 861 ลำ เพื่อกำจัด ซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยให้หมดสิ้นไปจากน่านน้ำไทย หลังจากเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี


          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตของสินค้าประมง ต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย  รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน  ปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต พร้อมกำหนดให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำต้องจดบันทึกการทำการประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิด สัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือการทำประมง เมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ ชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าจะถูกรายงานโดยท่าเทียบเรือ และเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลชนิดสัตว์น้ำและปริมาณที่ซื้อขายลงในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต

 

          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ  ได้กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำจากการประมง IUU เข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางของการนำเข้า ทั้งทางเรือ บก และทางอากาศ นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันการสวมน้ำหนักสัตว์น้ำ สุ่มตรวจการชั่งน้ำหนักปลาทูน่าที่โรงงานในช่วงเวลากลางคืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้สุ่มตรวจไปแล้ว 50 ครั้ง ใน 20 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา

 

          ผลของการพลิกโฉมหน้าระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงเพื่อการส่งออก นอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบวงจรเหนือระดับมาตรฐานสากลแล้ว ยังทำให้เกิดความรวดเร็วในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก จากเดิมใช้เวลา 5 วัน ลดเหลือเพียง 3 วัน ทำให้สินค้าประมงไทยเป็นที่ยอมรับ มีความโปร่งใส ลดต้นทุนผู้ประกอบการ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

 

          การที่เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไทยในครั้งนี้ เพื่อให้นานาประเทศเกิดความมั่นใจและเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการทำประมงผิดกฏหมาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับในเรื่องของการทำงาน ให้เกิดการประมงที่ยั่งยืนและทุกอย่างสามารถชี้แจงต่อประชาชน สาธารณชน และสื่อมวลชนได้ ที่สำคัญสินค้าประมงจะต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล งานที่ทำอยู่วันนี้ถือว่าพึงพอใจ พร้อมที่จะให้คณะกรรมการจากนานาประเทศ เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งแก้ไขปัญหาให้เป็นตามหลักสากลตามมาตรฐานที่กำหนด คาดว่าปลายเดือนนี้ทางคณะกรรมการของอียูจะเข้ามาตรวจสอบ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว 

 

          ขณะที่นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า พอใจการทำงานของรัฐบาลไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหานี้ ส่วนทางด้านเทคนิค หากรัฐบาลไทยมีระบบอะไรที่นำมาพัฒนาได้ ก็ขอให้ดำเนินการในส่วนนั้น


          นายวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี เอกอัครราชทูตโปรแลนด์ ประจำประเทศไทศ กล่าวแสดงความยินดีกับไทยที่มีระบบที่เป็นมืออาชีพและทันสมัยมาก รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ