ข่าว

ลูกสาวกำนัน ป้อง "อดีตส.ส.พะเยา" ไม่เอี่ยวโกงแชร์น้ำมัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลูกสาวกำนัน ยื่นขอความเป็นธรรมดีเอสไอ ค้านรับสอบสวนคดีแม่ข่ายแชร์น้ำมันกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน ยัน อดีตส.ส.พะเยาไม่เกี่ยวข้อง ลั่


          กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 9 ส.ค.61- ลูกสาวกำนัน ยื่นขอความเป็นธรรมดีเอสไอ ค้านรับสอบสวนคดีแม่ข่ายแชร์น้ำมันกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน อ้างตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง-ปล่อยเงินกู้ แต่ขาดทุนจึงถูกฟ้อง ต้องติดคุกระหว่างพิจารณาคดีจนแท้งลูก ยัน อดีตส.ส.พะเยาไม่เกี่ยวข้อง ลั่นเอาผิดจนท.เรือนจำถึงที่สุด ขณะที่ศาลเชียงคำพิพากษาผิดฐานฉ้อโกง แต่คดีขาดอายุความ สั่งชดใช้ค่าเสียหาย 27 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อไป
         

 

ลูกสาวกำนัน ป้อง "อดีตส.ส.พะเยา" ไม่เอี่ยวโกงแชร์น้ำมัน

             น.ส.ปภพภร ฟองคำ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ประชาชน ดีเอสไอ ภายหลังถูกนางศรีวรรณ แย้มพวง กับพวก เข้าร้องทุกข์ขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ โดยระบุว่าตนเป็นผู้ชักชวนให้ลงทุนแชร์น้ำมัน แชร์เงินกู้ระหว่างประเทศ และแชร์ผักสด ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งขอร้องเรียนดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยศาลจังหวัดเชียงคำได้พิพากษายกฟ้องตนในข้อหาฉ้อโกงประชาชน แต่ให้รับผิดชอบชำระเงิน 29 ล้านบาทคืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ตนได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ที่สำคัญในคำพิพากษานางศรีวรรณ ต้องร่วมกับผิดชอบชำระเงินคืนให้กับผู้เสียหายด้วย เพราะศาลระบุว่านางศรีวรรณ ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่เป็นผู้กระทำความผิดร่วม

          น.ส.ปภพภร กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการเชื่อมโยงประเด็นไปเกี่ยวพันอดีตส.ส.พะเยา ไม่เป็นความจริง ห้างหุ้นส่วนจำกัด พะเยาชลสิทธิ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับเหมาและให้กู้ยืมเงิน มีตนเป็นผู้จัดการ ส่วนนางศรีวรรณรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินและยังทำหน้าที่ชักชวนบุคคลอื่นให้เข้ามาร่วมถือหุ้น ต่อมากิจการประสบสภาพคล่อง เพราะนำเงินส่วนหนึ่งไปค้ำประกันงานรับจ่ายเหมาก่อสร้างกับทางราชการ และเงินที่ให้กู้ก็ยังไม่สามารถเก็บรวบรวมได้ เมื่อไม่สามารถจ่ายเงินปันผล นางศรีวรรณจึงชักชวนผู้ร่วมทุนอื่นๆ เข้าแจ้งความตนข้อหาฉ้อโกงประชาชน

            "ดิฉันไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล มีพ่อเป็นกำนันทำงานในพื้นที่ทำให้รู้จักกับอดีตส.ส.มา 15 ปี  แต่อดีตส.ส.ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของหจก.พะเยาชลสิทธิ์ ระหว่างถูกดำเนินคดีดิฉันถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำ 7 เดือน ตอนเข้าไปเรือนจำไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ต่อมาสงสัยว่าตั้งครรภ์ จึงขอให้แพทย์ตรวจ ซึ่งผลตรวจพบตั้งครรภ์จริง จึงนำผลใบรับรองแพทย์ไปให้เจ้าหน้าที่เพื่อขอให้จำแนกผู้ต้องขังไปอยู่กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงชรา หรือหญิงให้นมบุตร แต่เรือนจำไม่ได้สนใจ จึงทำหนังสือร้องเรียนไปที่กรมราชทัณฑ์แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจนตนเองแท้งลูก จึงได้ทำหนังสือร้องไปที่ป.ป.ท.ภาค 5 เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่แดนหญิงเรือนจำอำเภอเทิง จ.เชียงราย เพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด"
          สำหรับคดีดังกล่าวศาลจังหวัดเชียงคำมีคำพิพากษาว่า การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายและโจทก์ร่วมให้เข้าร่วมลงทุน โดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี และจัดให้สวัสดิการอื่นๆ เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือมีของขวัญให้ในวันสำคัญ ทำให้ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมหลงเชื่อ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศ หรือชักชวนแก่บุคคลหรือประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่คำว่าประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หมายถึงบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดว่าเป็นผู้ใด ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ซึ่งส่วนมากมีอาชีพพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลเชียงคำ และส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะกลุ่ม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แต่จำเลยคงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งโจทก์และผู้เสียหายทราบตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.59 และเข้าร้องทุกข์วันที่ 24 ก.ย.59 เป็นเวลาเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยชดใช้เงินคืนให้กับผู้เสียหาย 27,635,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ