ข่าว

จนท.ใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม "เสือโคร่ง"เพศเมีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมกลุ่มงานวิชาการ สบอ. 12 สามารถใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม ให้เสือโคร่งเพศเมียได้สำเร็จ หลังเฝ้าตามกว่าครึ่งเดือน


          นายไพศาล สถิตวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้เปิดเผยว่า วันนี้ (28 ก.ค.61)ได้รับรายงานจากนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการฯ ว่า การปฏิบัติงานตามโครงการนิเวศเสือโคร่ง ระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม 2561 นั้นมีผลเป็นที่น่ายินดี โดยเมื่อคืนวันที่ 27 ก.ค. 61 เจ้าหน้าที่ฯ ชุดปฏิบัติการ สามารถใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม ให้เสือโคร่งเพศเมีย วัยรุ่น ในบริเวณเส้นทางไปหน่วยพิทักษ์ป่าฯห้วยน้ำตื้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นผลสำเร็จ
          สำหรับการศึกษาขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่งดําเนินการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจังหวัดอุทัยธานี โดย การดักจับเสือโคร่ง ใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่งเพื่อใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ต่อไป


           ทั้งนี้ จากบทคัดย่อใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจําปี 2554 ของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าสํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอัจฉรา ซิ้มเจริญ , ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ, สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ และสมพร พากเพียร ได้อธิบาย ขนาดพื้นที่หากินของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เกี่ยวกับการใส่ปลอกคอวิทยุ ที่ใช้ในในการศึกษาว่าเป็นปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมที่ได้ตั้งค่าไว้ล่วงหน้าให้สามารถรับตําแหน่งของการเคลื่อนที่ของเสือโคร่งทุกๆ 1 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าไม่มีอุปสรรคในการรับ-ส่ง สัญญาณผ่านดาวเทียมจะทําให้สามารถทราบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่งได้ถึง 24 ตําแหน่งใน 1 วัน เมื่อเสือโคร่งได้ติดกับดักแล้วจะใช้ยาสลบ tiletamine HCL and zolazepam HCL (Zoletil; Virbac Laboratories, Carros, France ซึ่งเป็นยาสลบที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มแมว/เสือ(felidae) ในอัตรา 4 มิลลิกรัมต่อน้ําหนักตัวเสือโคร่ง 1 กิโลกรัม (Kreger and Arnemo, 2007) ยิงเข้าที่กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่หรือสะโพก จะทําให้สัตว์สลบภายในระยะเวลา 10 นาทีหลังจากนั้นจึงใส่ปลอกคอวิทยุที่มีน้ําหนักไม่เกิน 1% ของน้ําหนักตัวสัตว์แล้วจึงวัดขนาดร่างกายด้วยวิธีมาตรฐานของการวัดขนาดร่างกายสัตว์ซึ่งได้แก่ ขนาดลําตัว หาง รอบคอ รอบอก ความยาวขาหน้า ขาหลัง ขนาดอุ้งตีน และชั่งน้ําหนัก เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะได้นําเสือโคร่งที่ยังคงสลบอยู่ไปไว้ในที่ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าตัวอื่นและอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้โดยมีนักวิจัยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ในที่ปลอดภัยและไม่รบกวนสัตว์ที่สลบอยู่ จนกระทั่งเสือโคร่งฟื้นจากอาการสลบและออกเดินทางไป จึงถือว่าการปฏิบัติงานเสร็จ

ที่มา  : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ