ข่าว

กรมคุกเร่งช่วยเหลือผู้ต้องขังจิตเวช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อธิบดีราชทัณฑ์วางแนวช่วยเหลือผู้ต้องขังจิตเวช บ้าใบ้ ปัญญาอ่อน ป้องกันไม่ให้ถูกทำร้ายในเรือนจำ หารือสธ.เพื่อแยกคุมขัง

 

          เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 61 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ต้องขังจิตเวชในเรือนจำว่า กลุ่มผู้ต้องขังจิตเวช ปัญญาอ่อน ไอคิวต่ำ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ชอบความรุนแรงหรือเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงในเรือนจำ หลักของการใช้ชีวิตในเรือนจำคือการต้องอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก จึงต้องอยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้ แต่สำหรับผู้ต้องขังจิตเวชอาจพูดจาไม่เข้าหูคน พูดจาโวยวาย ร้องตะโกน หรือมีพฤติกรรมรบกวนเพื่อนผู้ต้องขังอื่นๆ จนอาจเป็นสาเหตุให้พวกเขาถูกรังแกหรือถูกทำร้าย กรมราชทัณฑ์จึงได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิต เพื่อจัดรูปแบบการดูแลรักษาหรือแยกการควบคุมตัวผู้ต้องขังจิตเวชออกจากผู้ต้องขังอื่น  

 

          อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ กองแพทย์ กรมราชทัณฑ์ ยังได้เร่งสร้างกลไกในการช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับผู้ต้องขังจิตเวชที่ไม่มีความสามารถต่อสู้คดีในชั้นศาล ขณะก่อเหตุอาจมีสภาพทางจิตไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือกระทำผิดจากความบ้าใบ้ ปัญญาอ่อน ซึ่งควรได้รับการตรวจพิสูจน์และประเมินผลทางจิต เพื่อนำไปใช้ประกอบการต่อสู้คดีในชั้นศาล และการประสานให้มีทนายความอาสาช่วยเหลือในการดำเนินคดีให้กับผู้ต้องขังจิตเวช ซึ่งที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้จัดการประชุมวางแนวทางการติดตามและการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถสู้คดีในชั้นศาล ทั้งนี้เพื่อวางแนวทางและต่อยอดการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

          ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชสามารถป้องกันการก่อคดีซ้ำหลังพ้นโทษ และสร้างความปลอดภัยสังคม โดยผลการวิจัยของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในปี 2560-2561 ในกลุ่มผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงจำนวน 600 คนที่อยู่ในเรือนจำและทัณฑสถานที่มีความมั่นคงปานกลาง-สูงสุด 10 แห่ง พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชร้อยละ 46 สูงกว่าประชาชนทั่วไปถึง 3 เท่าตัว โดยผู้ชายมีปัญหาร้อยละ 47 ผู้หญิงร้อยละ35 โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ติดเหล้าและสารเสพติดร้อยละ 30 รองลงมาโรคซึมเศร้าร้อยละ 16 และความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 16 โดยผู้ต้องขังเกือบ 1 ใน 4 มีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย 2 โรคขึ้นไป เช่น ใช้สารเสพติดและป่วยเป็นโรคจิตเภท เป็นต้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์อย่างใกล้ชิด เน้นที่การตรวจคัดกรองสุขภาพจิตผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคน เพื่อแยกกลุ่มการดูแลอย่างเหมาะสม  

 

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปี 2561 พบว่ามีผู้ต้องขังเข้าถึงบริการกว่า 4,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มี 3,300 คน จากผู้ต้องขังที่มีทั่วประเทศกว่า 300,000 คน และได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่มีปัญหากลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำหลังกลับไปสู่เรือนจำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ