ข่าว

ยธ.แนะเปิดพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แนวคำถามต่อผู้ประสบภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองปลัดยธ. แนะเปิดพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กำหนดแนวคำถามต่อเด็กผู้ประสบภัย โดยให้เทียบเคียงกับการสืบพยานเด็ก ควรเลี่ยงคำถามเปิดบาดแผลในใจ ชี้นำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์

 

           เมื่อวันที่ 18 ก.ค.61 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟชบุ๊คส่วนตัวถึงแนวทางตั้งคำถามเด็กผู้ประสบภัยร้ายแรง ว่าการสอบถามเด็กหรือเยาวชนต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กเรื่องจากเป็นวัยที่เปราะบางต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้น การตั้งคำถามเด็กจึงจำเป็นต้องใช้ภาษากับเด็กที่มีความเหมาะสมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กที่อยู่ในภาวะทุกข์ยากลำบากจากการเป็นผู้ผ่านประสบภัยร้ายแรงมา

          นายธวัชชัย ระบุด้วยว่า การประสบภัยครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ประเทศไทยเท่าที่จำได้ยังไม่มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติและตั้งคำถามที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิ เรื่องการสืบพยานเด็กว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไปหรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปี และผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็ก ร้องขอหรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ใน ฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัด ในสถานที่ที่เหมาะสม สำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วม ในการถามปากคำนั้นด้วย” ทั้งยงกำหนดให้ใครหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอไว้ด้วย และยังกำหนดจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ซึ่งวิธีข้างต้นให้นำไปใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปีด้วย เพื่อไม่ให้มีการถามปากคำซ้ำ เป็นต้น

           รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แต่ก็จำเป็นต้องดูกฎหมายหลักเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ดังนั้น จึงสำคัญที่เจตนาว่า หากทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบแล้ว ย่อมสามารถกระทำได้

          “ประเด็นพิจารณา คือ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า เด็กเป็นผู้ประสบภัยร้ายแรงผ่านประสบการณ์อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ตื่นกลัวสุดขีดมาแล้วยังคงตั้งคำถามแบบขาดความระมัดระวังอย่างมืออาชีพไปเปิดบาดแผลทางใจ จะเข้าข่ายเจตนาหรือไม่จึงเป็นเรื่องต้องวินิจฉัยต่อไป บางคำถาม สื่อไม่ควรถามนำที่จะเป็นส่งเสริมให้เด็กไปกระทำผิดหรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้ไปกระทำผิดกฎหมายอีก เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 26 (3)ที่เป็นผู้ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดได้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น แม้จะไม่เคยมีแนวทางปฎิบัติและอนวทางการตั้งคำถามเด็กที่ผ่านการเป็นผู้ประสบภัย แต่เราก็อาจใช้แนวทางการสืบพยานเด็กมาเทียบเคียงใช้ เท่าที่จำเป็น ซึ่งถือว่าใกล้เคียงและเป็นประโยชน์มากที่สุดได้”รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ

           นายธวัชชัย กล่าวอีกว่าจากการติดตามมาตรการและแนวทางการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกลุ่มเด็กและเยาวชนติดถ้ำของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งให้ตั้งคำถามล่วงหน้าและนักจิตวิทยาเป็นผู้แปลงคำถามให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากจะมีนำตัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไปทำอะไร สมควรอย่างยิ่งต้องได้รับการอนุญาตจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองก่อนด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ