ข่าว

"ปั๊มเชลล์"นำร่องรวบรวมขยะอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กทม."จับมือเชลล์เปิดโครงการนำร่องสถานีบริการน้ำมันรวบรวมขยะอันตราย 106 แห่งทั่วกรุงกำหนดจุดทิ้งก่อนทำลายอย่างถูกต้อง

 

16 กรกฏาคม  2561 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสถานีบริการน้ำมันรวบรวมขยะอันตราย โดยมีนางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายอรรถ เหมวิจิตรพันธุ์ รองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด  

 

พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ สถานีบริการน้ำมันเชลล์ (บริษัท เหนือเมฆ จำกัด) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง

 

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการสถานีบริการน้ำมันรวบรวมขยะอันตราย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.61 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทิ้งขยะอันตราย และมีจุดทิ้งขยะแยกประเภทในจุดที่เหมาะสม แสดงถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทางด้านอื่น ๆ ต่อไป 


โครงการสถานีบริการน้ำมันรวบรวมขยะอันตราย เป็นการรวบรวมขยะอันตรายจากประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 106 สถานี ซึ่งเป็นขยะอันตรายจากอาคารบ้านเรือนและชุมชน ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ภาชนะบรรจุต่าง ๆ ที่มีองค์ประกอบ หรือปนเปื้อนวัตถุ หรือสารอันตราย อาทิ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ กระป๋องยาฆ่าแมลง ยาหมดอายุ ขวดเครื่องสำอาง ขวดน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

 

โดยกำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย (Drop off) ตามสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเก็บรวบรวมขยะอันตรายและดำเนินการส่งต่อให้กรุงเทพมหานครนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งได้มีการตั้งวางถังรองรับขยะอื่น ๆ อีก 3 ประเภท ได้แก่ ถังขยะรีไซเคิล (ถังทำเงิน) เนื่องจากขายได้ ถังขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ (ถังทำปุ๋ย) เนื่องจากย่อยสลายเป็นอินทรีย์วัตถุหรือปุ๋ยอินทรีย์ และถังขยะทั่วไป (ถังทำลาย) เป็นขยะที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องนำไปกำจัดโดยฝังกลบหรือเผาผลิตพลังงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันคัดแยกขยะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทิ้งขยะของประชาชน


รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะมูลฝอย โดยได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการคัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะอื่น ๆ ซึ่งวิธีการกำจัดขยะแต่ละประเภทจะมีวิธีที่แตกต่างกัน อาจจะใช้วิธีการฝังกลบ เผาทำลาย หรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อย่างไรก็ตามการคัดแยกขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน หากทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะที่ต้นทางและปฎิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถลดปริมาณขยะมูลฝอย และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ