ข่าว

เปิด ! ขั้นตอนชดเชยภัยพิบัติสูบน้ำถ้ำหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกษตรฯ"เปิดขั้นตอนช่วยเหลือพื้นที่ภัยพิบัติรับผลกระทบสูบน้ำถ้ำหลวงฯพร้อมสนับสนุนพันธุ์ข้าวปลูกใหม่ให้เกษตรกรพื้นที่รับน้ำถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน 1,397 ไร่ 101 ราย


 5 ก.ค 2561 "เกษตรฯ"เปิดขั้นตอนช่วยเหลือพื้นที่ภัยพิบัติรับผลกระทบจากสูบน้ำถ้ำหลวงฯพร้อมสนับสนุนพันธุ์ข้าวปลูกใหม่ให้เกษตรกรพื้นที่รับน้ำถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน 1,397 ไร่ 101 ราย กำชับจนท.ติดตามใกล้ชิด

 

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจเบื้องต้น พบว่า มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมและปริมาณน้ำที่สูบออกจากถ้ำหลวงลงลำธารสาธารณะ จำนวน 1,397 ไร่ เกษตรกร 101 ราย การช่วยเหลือได้ยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

 

ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือชดเชยความเสียหาย โดยต้องเป็นเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย จำนวนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง รายละไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือตามระเบียบ คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท

 

สำหรับขั้นตอนและวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯและผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอประกาศให้เกษตรกรยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ01) และมีการรับรองโดยผู้นำท้องถิ่น และตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริงกับทะเบียนเกษตรกรด้วยคณะกรรมการตรวจสอบระดับหมู่บ้าน

 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล และติดประกาศคัดค้านไม่น้อยกว่า 3 วัน  โดยเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอหรือจังหวัด (ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ  วงเงินทดรองอยู่ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพียงพอ จะนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 50 ล้านบาท  และเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะโอนผ่านบัญชีของเกษตรกรโดยตรง 


"ระหว่างนี้ให้เกษตรกรมาแจ้งความเสียหายตามแบบยื่นความจำนง และคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติด้านพืชระดับหมู่บ้านจะลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริงเป็นรายแปลง ทุกแปลง คาดว่า ภายในวันที่ 26 ก.ค. 61 ตามแผน จะสามารถจัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย (ก.ช.ภ.จ.ชร.) เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ได้กำชับให้เกษตรจังหวัดติดตามและทำความเข้าใจทุกครัวเรือน ซี่งเป็นที่น่ายินดีเพราะเกษตรกร ให้พื้นที่กำลังปลูกข้าวเป็นแหล่งรับน้ำจากถ้ำหลวงฯ โดยทุกคนบอกว่า ข้าวปลูกใหม่ได้ แต่ชีวิตคนไม่สามารถเกิดใหม่ได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ