ข่าว

คุมเข้มป้องโกงสร้างฝายชะลอน้ำ 45 จว.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป.ป.ท.จับมือหน่วยงานภาคีปูพรมตรวจสอบโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ 45 จว. 109 ล้านบาท ตั้งเป้าป้องปรามการทุจริต ระบุในอดีตทุจริตอื้อ ฝายหายไปทั้งฝาย

 

          18 มิ.ย. 61 - สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวภายหลังประชุมดำเนินโครงการประสานพลังเฝ้าระวังการทุจริตกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของกรมพัฒนาที่ดิน ว่าโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำประจำปีงบประมาณ 2561 มีพื้นที่เป้าหมาย 1,097 ฝาย ใน 45 จังหวัด วงเงินงบประมาณ 109.7 ล้านบาท

 

          เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ส่วนการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตเป็นการร่วมกับกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองบัญชาการกองทัพบก กรมพัฒนาที่ดิน องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นและป.ป.ท ในการเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและส่งเสริมการมีส่วนร่วมตรวจสอบ โดยจะร่วมกันตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดวิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลาที่เหมาะสมของโครงการ กำหนดความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตเพื่อหาวิธีป้องกัน ประสาน กำกับ ขับเคลื่อนให้โครงการเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล หากมีการทุจริตก็จะมีหน่วยงานเฝ้าระวัง ชี้เบาะแส หลังจากนั้นจะเข้าตรวจจับว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการโยกย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่รวมถึงดำเนินการทางวินัยและอาญาต่อไป

 

          “ในปีที่ผ่านๆมา โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำมีการทุจริตเป็นจำนวนมาก ในชั้นการตรวจสอบหลายแห่งฝายหายไปทั้งฝาย โดยไม่พบฝายตามโครงการก่อสร้าง การทุจริตทำได้ง่ายเพราะการเข้าไปตรวจสอบทำได้ยาก เนื่องจากฝายต้องก่อสร้างบริเวณต้นน้ำที่ห่างไกล จึงมีการทุจริตตั้งแต่ค่าแรง ค่าวัสดุ ครุภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ขณะนี้การดำเนินคดียังไม่เสร็จสิ้น ค้างอยู่ในระหว่างการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้กรมพัฒนาที่ดินจะปรับการดำเนินการให้รัดกุมและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อให้ฝายชะลอน้ำมีประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

 

          ด้าน นางสาวพรรณพิศ บ่วงนาวา ผู้อำนวยการกองแผนงานกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่าโครงการก่อสร้างฝายในปี 2561 ใช้งบประมาณก่อสร้างฝายจุดละ 100,000 บาท เป็นงบฯลงทุน 61,000 บาท และงบฯดำเนินการ 39,000 บาท โดยฝายแต่ละแห่งจะมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เมตร ใช้วัสดุกึ่งถาวร คือใช้ทรายผสมซีเมนต์ ซึ่งได้เริ่มต้นการก่อสร้างไปแล้ว 40 จังหวัด จากจำนวนทั้งสิ้น 45 จังหวัด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบเบาะแสข้อมูลที่ส่อถึงการทุจริต


          พล.ท.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติงาน 4 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.มีกำลังพลในทุกจังหวัด พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างฝายในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ไม่มีปัญหาเรื่องความห่างไกลของพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการเข้าไปป้องกันและปราบปรามการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง โดยทุกจังหวัดจะเริ่มปฏิบัติการตรวจสอบพร้อมกันทันที ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ