ข่าว

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้พิพากษาสัมผัสชีวิตผู้ต้องขัง เรือนจำปัตตานีหลังเดินสาย 3 แห่งโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสิน-ผู้ถูกตัดสิน เปิดโอกาสคุยผู้ต้องขัง เข้าถึงปัจจัยการตัดสิน

           27 พ.ค.61- "สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา" กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสิน กับผู้ถูกตัดสิน ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ โดย "นางเมทินี ชโลธร" ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ , นายกำจัด พ่วงสวัสดิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ , นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการในพระดำริฯ และผู้พิพากษา 23 ท่าน เข้าเยี่ยมเรือนจำกลางปัตตานี เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา 

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน

           ซึ่ง "นายบุญโชติ เดชสม" ผู้บัญชาการเรือนจำกลางปัตตานี ได้บรรยายสรุปการดำเนินงานของเรือนจำ ก่อนนำคณะผู้พิพากษาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ภายในเรือนจำ พร้อมทั้งทำการสัมภาษณ์เรื่องราวคดีความของผู้ต้องขังชายจำนวน 30 ราย จากนั้นเดินทางไปเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง พร้อมทั้งเข้าร่วมรับเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงเสด็จมาเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ณ เรือนจำจังหวัดนราธิวาสซึ่งนับเป็นเรือนจำแห่งที่ 18 ที่เข้าโครงการกำลังใจในพระดำริฯ

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน

           โดย "นายพิทยา จินาวัฒน์ " ที่ปรึกษาโครงการกำลังใจในพระดำริฯ กล่าวว่า  โครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสินฯ เป็นโครงการที่ทำให้ผู้พิพากษาได้มีโอกาสพบปะกับผู้ต้องขังซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาได้เข้าใจในเรื่องการพิจารณาตัดสินคดีว่านอกเหนือจากการยึดตัวบทกฎหมายยึดบัญชีอัตราโทษของศาลแล้ว ยังสมควรจะต้องพิจารณาถึงภูมิหลังหรือสาเหตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของจำเลยคดีอาญา ซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีได้ดียิ่งขึ้น

         ที่ผ่านมาสำนักกิจการในพระดำริฯ ได้นำคณะผู้พิพากษาชุดนี้เข้าเยี่ยมและพบปะผู้ต้องขังเรือนจำกลางระยอง , เรือนจำกลางขอนแก่น , เรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ก่อนมาเรือนจำกลางปัตตานี และเรือนจำจังหวัดนราธิวาส  ซึ่งการเข้าพบกันดังกล่าวช่วยทำให้ผู้พิพากษาเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษสมัยใหม่ว่าต้องคำนึงถึงเหตุปัจจัยหลายด้านรวมไปถึงกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังให้พ้นโทษแล้วกลับเป็นคนดี 

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน
    

            ด้าน "นายณัฐปกรณ์  พิชญปัญญาธรรม" ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กล่าวว่า "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา" และโครงการกำลังใจฯ อยากให้ผู้พิพากษาได้สัมผัสชีวิตของผู้ต้องขังเพื่อให้เราเห็นว่าการตัดสินคดีแต่ละคดีควรใช้อะไรประกอบดุลยพินิจพิพากษาบ้าง ที่ผ่านมาตนจำคุกคนน้อยมากถ้าให้โอกาสได้ก็ให้โอกาส เพราะเราจำคุกคนหนึ่งคนกระทบกับอีกหลายคน 

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน

           กิจกรรมนี้ "นางเมทินี ชโลธร" ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หัวหน้าโครงการคัดเลือกผู้พิพากษาทุกรุ่น ตั้งแต่ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นให้เข้ามาร่วม เพื่อให้ศาลแต่ละชั้นได้รับรู้ว่าชีวิตของผู้ต้องขังหลังการตัดสินของพวกเรานั้นเป็นอย่างไร ทำให้ย้อนกลับไปมองดูว่าการลงโทษของพวกเราที่ผ่านมานั้นได้สัดส่วนกับความผิดหรือไม่

โครงการกำลังใจฯ นำผู้พิพากษาพบผู้ต้องขังเพิ่มดุลยพินิจตัดสิน

         ปัจจุบันผู้ต้องขังล้นคุกอยู่กันอย่างแออัด ทำให้ผู้พิพากษาอาจจะต้องทบทวนการใช้ทางเลือกในการลงโทษโดยดูว่ามีมาตรการใดที่มีความเหมาะสมก็นำมาใช้ลงโทษไม่ใช่ส่งเข้าคุกอย่างเดียว ตนคิดว่าโครงการกำลังใจฯ จัดโครงการนี้ขึ้นมานับเป็นกิจกรรมที่ดีที่ได้ช่วยเปิดมุมมองผู้พิพากษาที่มีต่อจำเลยหรือผู้ต้องขัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินและช่วยลดปริมาณผู้ต้องขังแก้ปัญหาคนล้นคุกอีกทางหนึ่งด้วย
    

    
    
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ