ข่าว

ศาลกำหนดเงื่อนไขห้าม 15 แกนนำอยากเลือกตั้ง ชุมนุมการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมการเมือง หลังให้ประกัน 15 แกนนำอยากเลือกตั้ง "รังสิมันต์-จ่านิว" ยันชุมนุมต่อได้ แต่ต้องหารือก่อน แนะ ตร.ปรับปรุงห้องขังสกปรกซอมซ่อ


          24 พ.ค.61 - ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว "นายรังสิมันต์ โรม" อายุ 25 ปี , "นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธิวัฒน์ อายุ 26 ปี" กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา พร้อมพวกซึ่งเป็นแกนนำและผู้ชุมนุม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ผู้ต้องหาที่ 1-15 คดียุยงปลุกปั่นจากการชุมนุมที่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวาระครบรอบ 4 ปี รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างการฝากขังครั้งแรก


          โดยหลังจากคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.น.1 ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกแล้ว "นายกฤษฎางค์ นุตจรัส" ทนายความของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด ขอปล่อยชั่วคราวแกนนำทั้ง 15 คนรายละ 100,000 บาท รวม 1.5 ล้านบาท  

 

          ซึ่ง "ศาลอาญา" พิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน โดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาทำการชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สังคม

 

          ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ยื่นคำคัดค้านฝากขังนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ในชั้นพิจารณา เมื่อคดีอยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จึงมีเหตุที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องฝากขังได้ ศาลจึงให้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง

 

          ภายหลังได้รับการประกันตัว นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลให้ประกันตัวกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้งหมดกำหนดวงเงิน 1 แสนบาท มีเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สาธารณชน ไม่ได้ห้ามการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นภยันตรายต่อประชาชน ส่วนคำสั่งอนุญาตฝากขังเราจะอุทธรณ์ต่อไป

 

          กระทั่งเมื่อเวลา 17.20 น. เมื่อผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว "นายรังสิมันต์" หนึ่งในผู้ต้องหา กล่าวว่า สิ่งที่คนอยากเลือกตั้ง ยืนยันมาตลอดคือการชุมนุมอย่างสันติ ไม่ก่อความเดือดร้อนใดๆ เรามีเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฯ เราพยายามเจรจาหาหนทางอย่างสันติต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่เราได้รับแม้ว่าเราจะได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้วก็ตาม พบว่าวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายกองร้อยได้ปิดถนน มากกว่าผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ แล้วมาบอกว่าการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งจะสร้างความวุ่นวายต่อการจราจร ไม่เรียบร้อย ทั้งที่เรามีความประสงค์จะใช้แค่ถนน 1 เลนในการเดิน และจะเดินเมื่อพ้นชั่วโมงเร่งด่วนแล้วด้วยซ้ำ เรามีความปรารถนาดีอยากเห็นประเทศไทยคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย อยากเห็นคนไทยมีโอกาสเลือกตั้งอีกครั้ง มีเยาวชน 7 ล้านที่ยังไม่เคยใช้สิทธิครั้งแรก เราออกมาต่อสู้ทั้งที่ราคาแสนแพงเพราะต้องแลกด้วยสิทธิเสรีภาพของเราเอง

 

          "นายรังสิมันต์" ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า เรายืนยันต้องการให้ศาลปกครองคุ้มครอง แต่ คสช.บิดเบือนเอาคำวินิจฉัยศาลปกครองที่ยกคำร้องในการขอคุ้มครองชั่วคราวมาอ้าง การยกคำร้องไม่ได้หมายความว่าการชุมนุมผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่พยายามบิดเบือนว่าการยกคำร้องตรงนี้แสดงว่าเราผิดกฎหมาย ยืนยันว่าคำวินิจฉัยศาลปกครองไม่ได้กระทบการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่าถูกต้องหรือไม่ อารยประเทศไม่มีประเทศไหนบอกว่าประชาชนเรียกร้องการเลือกตั้งผิดกฎหมาย มีแต่ประเทศป่าเถื่อนเท่านั้น ที่บอกว่าการเลือกตั้งผิดกฎหมาย

 

          ด้าน น.ส.ณัฏฐา หรือโบว์ มหัทธนา กล่าวถึงการชุมนุมที่หน้ายูเอ็นว่า ขณะนั้นมวลชนจำนวนหนึ่งมีความมุ่งมั่นจะไปถึงทำเนียบรัฐบาลให้ได้ จึงออกด้านหลัง ม.ธรรมศาสตร์ เดินเท้าไปจนถึงหน้ายูเอ็น เมื่อมีการปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่เราจึงนั่งลงหน้ายูเอ็นเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ล้อมวงกันเข้ามาเพื่อจับกุม เราก็เจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ยื่นข้อเสนอขอให้เราได้อ่านแถลงการณ์แล้วให้นำตัวพวกเราแกนนำไป สน. ดังนั้นคือเราเสนอมอบตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่เขียนรายละเอียดว่าเป็นการจับกุม จึงเกิดการละเมิดกักขังโดยมิชอบถึง 2 คืน เป็นการจำกัดอิสรภาพของพลเมือง กรณีนี้ไม่มีความจำเป็นเลย อิสรภาพของเราไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนแต่อย่างใด

 

          ส่วน นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เสรีธิวัฒน์ กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ค. ศาลเปิดทำการแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวเราต่อไปเพราะต้องแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่ม ซึ่งตอนแรกในคืนวันที่ 22 พ.ค.เราถามเจ้าหน้าที่แล้วบอกไม่แจ้งข้อหา ทำให้เราต้องนอนห้องขังเพราะต้องรอแจ้งข้อหาอีก คดีอัตราโทษไม่สูงแต่ต้องขังเราเพิ่ม 1 วัน สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย สภาพห้องขังย่ำแย่ เราก็อดทนอยู่ สิทธิที่ผู้ต้องขังควรได้รับคือ การถูกควบคุมตัวต้องทำภายใต้ความถูกสุขลักษณะอนามัย ไม่ใช่สกปรกซอมซ่ออย่างที่เป็นอยู่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะปรับปรุงตรงนี้เพื่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาทุกคน

 

          เมื่อถามถึงแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป รังสิมันต์ กล่าวว่า เราดำเนินกิจกรรมตามโรดแม็ปที่แถลงไว้ 7 ครั้ง และต่างจังหวัดอีกหลายครั้ง เราอาจจะต้องกลับไปเตรียมการอีกครั้งหนึ่ง เราต้องกลับไปคุย เพราะ 22 พ.ค. เป็นโรดแม็ปสุดท้าย เรายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ต้องขอเวลา แต่เรายืนยันว่าไม่ใช่วันสุดท้ายของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เราจะยังคงเห็นการเดินหน้าต่อสู้ต่อไปจนกว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง

 

          ขณะที่นายสิรวิชญ์ กล่าวเสริมว่า เงื่อนไขไม่ได้ห้ามชุมนุม แต่ห้ามชุมนุมขัดต่อกฎหมายและไม่อันตรายต่อสาธารณชน ที่เรายืนยันว่าเราไม่ขัดกฎหมาย แค่ขัดประกาศ คสช. ซึ่งเราไม่ยอมรับว่าเป็นกฎหมาย และไม่เคยสร้างอันตรายต่อสาธารณชน เรายังชุมนุมได้ต่อไป.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ