ข่าว

นักวิชาการสื่อ หวั่นคำสั่ง คสช. ซ่อนกลแทรกแซงสื่อฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการสื่อ หวั่นคำสั่ง คสช. ซ่อนกลแทรกแซงสื่อฯ หลังบังคับเสนอผังรายการให้ กสทช. พิจารณาก่อนพักชำระค่าธรรมเนียม จี้ "กสทช." ออกหลักเกณฑ์ให้ชัด

 

          23 พ.ค. 61 - นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเงื่อนไขของการพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตัล ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 ที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการพักการชำระต้องทำผังรายการเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมกำหนดกรอบและลักษณะเนื้อหาที่ผูกเป็นเงื่อนไขหากฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนการพักชำระค่าธรรมเนียม

 

          นายมานะ กล่าวว่า หากมองในแง่ดี หมายถึงว่าต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของเนื้อหาของผู้ผลิตรายการ และเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลช่องต่างๆ แต่ในกรณีดังกล่าวอาจจะถูกมองได้ว่า เป็นความพยายามแทรกแซงการนำเสนอและเนื้อหาของสื่อมวลชนด้วยหรือไม่ เพราะการผูกเงื่อนไขเข้ากับการเพิกถอนการพักชำระ หากนำเสนอเนื้อหาที่ขัดกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว

 

          "ผมมองว่า กสทช.​ควรจะพิจารณาระเบียบหรือกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน , ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกนำเป็นไปประเด็นที่เข้าข่ายแทรกแซงสื่อมวลชน ที่ขอพักชำระค่าธรรมเนียมในอนาคต เพราะโดยเฉพาะในช่วงที่มีคำถามหรือภาวะสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐ" นายมานะ กล่าว

 

          นายมานะ กล่าวด้วยว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช.​ฉบับเดียวกันที่เปิดช่องให้ช่อง11 หรือสถานีของกรมประชาสัมพันธ์สามารถหารายได้ทางอื่น นอกจากการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล นั้นเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายที่ขัดต่อการประกอบกิจการโทรทัศน์ประเทศทีวีสาธารณะหรือไม่ เพราะช่อง 11 ถูกเว้นไม่ต้องเข้าแข่งขันหรือประมูลเพื่อให้ได้ช่องออกอากาศ แต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวออกมา ทำให้ช่อง 11 สามารถหารายได้จากการโฆษณา หรือ ให้เอกชนเช่าช่วงเวลาเพื่อทำรายการเผยแพร่ได้ โดยตนขอตั้งคำถามว่ากรณีที่มาตรา 44 กำหนดนั้นอาจจะทำให้เกิดการเข้าหผลประโยชน์ของกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์บางรายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่

 

          ขณะที่ภาพรวมของการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ คสช. ครั้งนี้ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์​ มองว่า เป็นเพียงการให้ยาเพื่อระงับอาการปวดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นยารักษาโรค เพราะแม้จะกำหนดให้พักชำระค่าธรรมเนียมได้ แต่สุดท้ายผู้ประกอบการต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนดเวลาพักชำระ ดังนั้นในทางที่ดีและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเนื้อหา กสทช.​ควรเข้ามามีบทบาท ที่จะสนับสนุนการผลิตเนื้อหาเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคผ่านกองทุนที่กสทช. ดูแล.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ