ข่าว

ผลโพลล์ชี้ พ่อแม่ 66.8% ยังให้ลูกเรียนพิเศษเสริม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรุงเทพโพลล์เผย เปิดเทอมนี้พ่อแม่ยุคใหม่ยังต้องส่งลูกเรียนพิเศษเพิ่ม วางแผนให้ลูกเรียนภาษาจีน ญี่ปุ่นเพิ่ม วอนรัฐสนับสนุนหลักสูตรทางเลือกเหมาะกับศักยภาพเด็ก

 

          เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 61 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น “กรุงเทพโพลล์” ในหัวข้อ พ่อแม่ยุคใหม่วางแผนอย่างไรในช่วงเปิดเทอม โดยระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมการวางแผนในด้านการศึกษาแก่บุตรหลานสำหรับปีการศึกษาใหม่ โดยเก็บข้อมูลจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานศึกษาอยู่ในระดับชั้น อนุบาล-มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น1,175 คน โดยมีผลสำรวจดังนี้

 

          ในประเด็นคำถามถึงระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า มีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.8 ระบุว่า จำเป็นมาก รองลงมาร้อยละ 20.4 ระบุว่าจำเป็นน้อย และมีเพียงร้อยละ 12.8 ระบุว่าไม่จำเป็นเลย  

          ส่วนการวางแผนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถให้กับลูกๆ ในเทอมใหม่นี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.8 จะเน้นไปในด้านภาษาที่ 3  เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น รองลงมาร้อยละ 38.0 เน้นด้านกีฬา และร้อยละ 23.6 เน้นด้านดนตรี ร้องเพลง และนาฏศิลป์ โดยวิธีการสนับสนุนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.8 ให้ลูกเรียนเสริมในสิ่งที่เค้าชอบไม่บังคับหรือกำหนดให้ลูก รองลงมาร้อยละ 46.5 กำหนดให้ลูกไปเรียนเพื่อสร้างทักษะเฉพาะเช่น ดนตรี กีฬา คณิต ศิลปะ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ และร้อยละ 37.8 ให้ลูกเรียนพิเศษด้านวิชาการในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ 

 

          สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าเรียนพิเศษเพื่อเสริมทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ ด้านต่างๆ ในปัจจุบันร้อยละ 49.9 ระบุว่า ราคาพอดีแล้ว รองลงมาร้อยละ 29.0 ระบุว่าราคาสูงแต่พอรับได้ และร้อยละ 5.3 ระบุว่า ราคาสูงมากจนไม่สามารถรับได้  ในส่วนของการจัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการศึกษาของลูกๆ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 ระบุว่ามีการจัดสรรเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูกโดยเฉพาะ รองลงมาร้อยละ 31.7 ระบุว่านำเงินเก็บออมออกมาใช้ และร้อยละ 10.5 ระบุว่าหยิบยืมจากญาติเพื่อนกรณีหมุนเงินไม่ทัน


          ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษาจากรัฐบาลมากที่สุดร้อยละ 17.7 คือสร้างหลักสูตรทางเลือกที่หลากหลายเหมาะกับศักยภาพของเด็กรองลงมาร้อยละ 17.5 คือให้ครูสอนเต็มที่จะได้ไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม และร้อยละ 15.9 ให้พัฒนาครูให้มีเทคนิคการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นหลัก.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ