ข่าว

'ดร.ธรณ์'ชี้'ฉลาม'อยู่ในบ้านเขา-ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผศ.ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นกรณี นทท.ต่างชาติถูกฉลามทำร้ายที่หัวหิน ไม่ฟันธงถูกกัด เชื่อทะเลไทยมีฉลาม แต่ตัวเล็ก อยู่ในบ้านเขา และไม่ตั้งใจทำร้าย

 

               จากกรณีโลกโซเชียลได้มีการแชร์ภาพนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งลงเล่นน้ำที่หาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขา เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ มีเลือดไหลจำนวนมาก

 

               ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ช่วยกันปฐมพยาบาลและนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยในคลิปดังกล่าวระบุว่า นักท่องเที่ยวรายนี้ได้รับบาดเจ็บจากถูกฉลามกัด เหตุเกิดเมื่อเย็นวันที่ 15 เมษายน สร้างความตกใจให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าจะมีกระแสอีกด้านออกมาให้ความเห็นว่าไม่น่าจะถูกฉลามกัด นักท่องเที่ยวรายนี้อาจจะถูกหอยเพรียง ที่เกาะอยู่ตามโขดหินบาดขาขณะกระโดดเล่นน้ำก็เป็นไปได้ คลิปว่อนโซเชียล หนุ่มนอร์เวย์อ้างถูกฉลามกัดขณะเล่นน้ำ  

 

 

'ดร.ธรณ์'ชี้'ฉลาม'อยู่ในบ้านเขา-ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร

 

               ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ว่า "ในเรื่องของฉลามที่ประจวบ ขอให้ความคิดเห็นในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลครับ

               อันดับแรก ผมไม่ทราบว่าเป็นการกัดของฉลามหรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นบาดแผลโดยละเอียด ต้องสอบถามกับผู้ที่เห็นหรือผู้รักษา 

               อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้ความเห็นเกี่ยวกับฉลามไว้ดังนี้          

                  

               1) ฉลามเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศ เป็นผู้ล่าคอยควบคุมสัตว์ที่อ่อนแอกว่า หากไม่มีฉลาม ระบบนิเวศทางทะเลย่อมเกิดผลกระทบ

               2) ฉลามในเมืองไทยถูกล่าไปมาก แต่แน่นอนว่าก็ยังพอมีเหลือโดยเฉพาะฉลามขนาดเล็ก         

               3) ฉลามขนาดเล็กบางครั้งว่ายเข้ามาในน้ำตื้นช่วงน้ำขึ้น/น้ำลง ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน มีคนพบเห็นเป็นประจำ บางครั้งก็เป็นข่าว เช่นเมื่อไม่กี่วันก่อน         

               4) ฉลามขนาดใหญ่ เช่น ฉลามขาว ไม่พบในไทย ฉลามที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ระดับสูง เช่น ฉลามเสือ แทบไม่มีใครเจอในเมืองไทยแล้ว (ผมเคยเจอครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 20 ปีก่อน) อาจพบตามแพปลาบ้าง แต่นับว่าน้อยมาก และบางครั้งไม่ได้จับมาจากทะเลไทย

 

 

'ดร.ธรณ์'ชี้'ฉลาม'อยู่ในบ้านเขา-ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร

 

 

               5) รายงานฉลามจู่โจมมนุษย์ในเมืองไทยถึงขั้นเสียชีวิต เป็นเรื่องที่เกิดในอดีตหลายสิบปีมาแล้ว (เรื่องของนายแฉล้มกับฝรั่งที่ศรีราชา ก่อนผมเกิด)                  

               6) ในช่วงหลายสิบปีหลังจากนั้น มีรายงานว่ามีคนโดนฉลามกัด โดยดูจากบาดแผล อาจมีอยู่บ้าง เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสที่ฉลามจะเจอคนก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละปีมีการเล่นน้ำนับร้อยล้านครั้งในทะเลไทย แต่มีข่าวคนโดนฉลามกัด 2-3 ปีครั้ง อัตราส่วนน้อยมาก

               7) การกัดของฉลามในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นการกัดที่เท้า เป็นร่องรอยจากฉลามขนาดเล็ก มักเข้ามาหากินในน้ำตื้น ว่ายเลียบตามพื้น เมื่อเห็นเท้าคนเล่นน้ำก็อาจกัด เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปลา เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ก็ว่ายจากไป ไม่ใช่พยายามเข้ามากัดซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนในภาพยนตร์ 

 

 

'ดร.ธรณ์'ชี้'ฉลาม'อยู่ในบ้านเขา-ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร

 

               8) ไม่มีใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจากการกัดของฉลามในเมืองไทยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา  

               9) ยังไม่มีเหตุการณ์ที่ฉลามจู่โจมซ้ำในพื้นที่เดิม ยกเว้นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่าจะไม่เกิด ผมเพียงนำสถิติมาให้ทราบ 

               10) สำหรับผม เคยเจอฉลามมาเยอะ ในภาพที่เห็นก็เป็นภาพถ่ายของผมช่วงที่ฉลามเข้ามาหาตอนดำน้ำ ผมไม่กลัวฉลาม แต่แน่นอนว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว 

 

 

'ดร.ธรณ์'ชี้'ฉลาม'อยู่ในบ้านเขา-ไม่ตั้งใจทำร้ายใคร

 

               11) ในต่างประเทศที่พบฉลามขนาดใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกา บางหาดมีคำเตือนเรื่องฉลามอยู่บ้าง บางแห่งที่มีฉลามขนาดใหญ่เข้ามาประจำก็อาจมีข่ายกันฉลาม แต่ข่ายดังกล่าวบางครั้งก็ติดปลาหรือสัตว์น้ำอื่น  

               สุดท้ายคือฉลามอยู่ในทะเล เป็นบ้านของเขา และเขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายเราครับ"   อ่านต้นฉบับ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ