ข่าว

สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชน ช่วง 7 วันอันตราย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรม สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชนในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ย้ำทุกแห่งยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

 

          11 เม.ย. 61 - น.พ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. 2561 เป็นช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าในช่วง 7 วันนี้ จะมีการสัญจรที่คับคั่งทั้งการกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว จึงอาจเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยของผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มิได้เตรียมความพร้อมมากกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนที่อยู่ใกล้อย่างทันท่วงที ในมาตรฐานเดียวกัน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP)

          นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า พ.ญ.ประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรม สบส.จึงได้มีนโยบายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ลงตรวจความพร้อมในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น โดยมุ่งตรวจในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานพยาบาลมีมาตรฐานตามที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดครบถ้วนทั้ง 5 ด้านหรือไม่ ประกอบด้วย สถานที่ ต้องมีความสะอาด เหมาะสมต่อการบริการ , แพทย์ผู้ให้บริการ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้อง ,การบริการ ต้องได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ,เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารละยา (อย.) และความปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน 2.โรงพยาบาลมีการนำระบบการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ผ่านระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาใช้ในการประเมินผู้ป่วย

 

 สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชน ช่วง 7 วันอันตราย

 

          ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า จากการนำพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเปาโล รังสิต พบว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมในการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วย และไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของ สพฉ. ผ่านทางสายด่วน  02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

          ทั้งนี้ อาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของ สพฉ.แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง หากประชาชนพบผู้ที่มีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 อาการข้างต้นอย่ารอช้าให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 ของ สพฉ.เพื่อส่งตัวไปไปรับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยทันที.

 

 สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชน ช่วง 7 วันอันตราย

 

 สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชน ช่วง 7 วันอันตราย

 

 สบส. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.เอกชน ช่วง 7 วันอันตราย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ