ข่าว

ชวนชมเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 13

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จังหวัดราชบุรีร่วมกับ ททท. จัดงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด "ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน" 13 - 14 เม.ย. ณ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

               พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ปีนี้วัดขนอน จังหวัดราชบุรี ททท. สำนักงานกาญจนบุรี และพันธมิตรคณะผู้จัดงานฯ ได้ร่วมจัดงาน “งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 13” ภายใต้ธีมงาน “ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน” ซึ่งมีกำหนดจัดงานดังกล่าวขึ้น ในวันเทศกาลสงกรานต์ 13 - 14 เมษายน 2561 ศกนี้

               ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการแสดงนั้น คณะผู้จัดงานฯ ได้คิดปรับเรื่องราวใหม่ในทุกๆปี ซึ่งเดิมทีหนังใหญ่วัดขนอนจะมีทั้งหมด 9 ตอน แต่ 12 ปีที่ผ่านมาเล่นวนในตอนของรามเกียรติ์ 5 ตอน และด้วยความแปลกใหม่ปีนี้ทางคณะฯ จึงได้หยิบยกตอนหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์ “ตอนศึกพรหมาศ” มาทำเป็นครั้งแรก ด้วยการสร้างหนังตัวใหม่ขึ้นมาที่มีความสูงของหนังประมาณ 3.40 เมตร แกะเป็น “ตัวหนังท้าวโกสีย์ขี่ช้างเอราวัณ” เป็นหนังที่แกะใหม่ โดยครูหมู จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมแกะหนังใหญ่ และครูผู้สอนศิลปะการแสดง คณะหนังใหญ่วัดขนอน
               พระครูพิทักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า การแกะหนังชุดนี้เป็นงานศิลปะลงสีหนังมีสีสันสวยงามจะนำมาแสดงผสมผสานร่วมกับนาฎศิลป์ประยุกต์ร่วมสมัยโดย อ.กฤษฎิ์ชัยศิลบุญ และโขน จากศิษย์ศิลปากรร่วมขับเคลื่อนอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมด้วยแสงสีเสียง ให้ผู้ชม และนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างเต็มอิ่มกับการจัดงานในปีนี้ แต่ก็ยังคงตัวตนความเป็นหนังใหญ่วัดขนอนไว้อยู่
               “นอกจากนี้ ก็ยังมีการแสดงในชุดอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การแสดงหนังใหญ่วัดขนอน การแสดงศิลปภาคใต้ดิเกร์ฮูลู หนังตะลุง และมโนราห์ โดย อ.วาที ทรัพย์สิน ทายาทสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2549 บ้านหนังตะลุงสุชาติ พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทย แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ต้นแบบ "หนังตะลุงเมืองคอน" แห่งนครศรีธรรมราชการแสดงโขน (ศิษย์ศิลปากร) กลุ่มการแสดงนาฎศิลป์ไทยร่วมสมัย อ.กฤษฎิ์ชัยศิลบุญ หุ่นละครเล็กคลองบางหลวงกลุ่มละครหุ่นคนแม่เพทาย (เพชรบุรี) เป็นต้น และเช่นกันทุกๆ ปีภายในงานจะรณรงค์เรื่องการแต่งกายเที่ยวงานเทศกาลฯ ด้วยผ้าไทยซึ่งเป็นหนึ่งในงานศิลปวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมเผยแพร่ความเป็นไทย จุดกระแสท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ในวันเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทยนี้ด้วย”

 

 

               พระครูพิทักษ์ศิลปาคม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเปิด “ตลาดด่านขนอน” อีกว่า “วัดขนอน” สร้างมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  ทว่าบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้อดีตหน้าวัดเคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากร เป็นพื้นที่ค้าขายและตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า โดยล่าสุดทางวัดขนอน ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี ได้ปรับพื้นที่ และปรับภูมิทัศน์ด่านแห่งนี้ใหม่อีกครั้ง ให้เป็นตลาดวิถีชุมชนโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ตลาดด่านขนอน” ตลาดบกแบบไทยย้อนยุคที่จะมีสินค้า และอาหารท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศ
               โดยวันงานทั้ง 2 วัน จะเปิดฟรี การแสดงชมฟรีทั้งหมด รวมทั้งตลาดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของงานเทศกาลหนังใหญ่ ที่ยังคงไว้ซึ่งการแลกเบี้ยแบบโบราณสำหรับไปจับจ่ายซื้อของสินค้าท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน และของที่ระลึก พร้อมสุขใจด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การก่อกองทราย งานสาธิตช่างสิบหมู่ งานจักรสาน ฯลฯ
               ขอเชิญนักท่องเที่ยวสนใจร่วมงานแต่งชุดไทย ชมสุดยอดศิลปะนาฎศิลป์อันทรงคุณค่า ชิมของอร่อยเมนูพื้นบ้าน ช้อปสินค้าท้องถิ่น ได้ในงาน “งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 13” ประจำปี 2561 “ชมหนังใหญ่ แต่งไทย ไปตลาดด่านขนอน” มีกำหนดจัดงานขึ้นในช่วงวันเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 13 - 14 เมษายน 2561 เวลา 15.00 - 22.00 น. ณ ลานกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  
               สำหรับ “หนังใหญ่วัดขนอน” ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ผู้ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ. 2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 95 ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน
               ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง ที่ยังอนุรักษ์การแสดงแบบพื้นบ้านเพียงคณะเดียวในประเทศไทย กระทั่งในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้วัดขนอน ช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดราชบุรี รับสนองโครงการพระราชดำริ จากการสืบทอดการแสดง อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ไว้เป็นอย่างดี จนได้รับ “รางวัลจากยูเนสโก (UNESCO)” ด้านชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรมและเป็นแหล่งอนุรักษ์ เรียนรู้ ฝึกฝน ศิลปะทุกแขนงที่เกี่ยวกับหนังใหญ่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ