ข่าว

“กสทช.”อุทธรณ์แจง3ปม“เจ๊ติ๋ม”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ดกสทช.มีมติยื่นอุทธรณ์ฯใน3สัปดาห์เตรียมแจงความเห็นแย้ง3ประเด็นยันมีแผนชัดเจน-เดินตามแผนแม่บทตามกำหนดไม่เช่นนั้นเอกชนทุกรายคงเจ๊งกันหมดวิษณุนัดถกผู้ประกอบการ

 

         หลายฝ่ายกำลังจับตาดูท่าทีหลังจากศาลปกครองกลางพิพากษาให้บริษัทไทยทีวีจำกัดชนะคดีฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญากับ กสทช.ได้เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญา พร้อมทั้งสั่งคืนเงินค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 1,500 ล้านบาทให้ไทยทีวี ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ทีวีดิจิทัลอีกหลายๆ สถานีที่ประสบปัญหาเดียวกันนั้น

         วันนี้ 14 มีนาคม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติน้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาคดีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้อง กสทช. และยินดีที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องคำพิพากษาและวินิจฉัยบางส่วน แต่มติที่ประชุมจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

         รองประธานกสทช. กล่าวอีกว่า เนื่องจาก กสทช. มีความเห็นแย้งใน 3 ประเด็นหลัก คือ กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการให้ใบอนุญาตของกสทช. เป็นการออกใบอนุญาตเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ การร่วมการงาน หมายถึงระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่กสทช. ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้นในส่วนนี้จึงน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้งกสทช. ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลับไปสู่ระบบสัญญาสัมปทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

“กสทช.”อุทธรณ์แจง3ปม“เจ๊ติ๋ม”

 

         ส่วนประเด็นที่ว่ากสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์หรือการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ไม่เป็นไปตามสัญญาตามนั้น ตนคิดว่าศาลปกครองกลางเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ การขยายสัญญาโครงข่ายได้ออกประกาศให้ครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ 50% หลังจากนั้นอีก 1 ปี ครอบคลุม 80% ปีที่ 3 ครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากรและปีที่ 4 ครอบคลุม 95% เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถือว่ากสทช.ได้กำกับให้มีการขยายโครงข่ายให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนดทุกประการ

         ส่วนที่ทางไทยทีวี ระบุว่าโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์มีความล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายได้ตามแผนนั้น ความจริงแล้วกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ประกอบการรายใดเลย และเมื่อติดตั้งล่าช้าก็มีการลงโทษทางปกครองไปแล้ว ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงที่กำหนดว่าการขยายโครงข่ายในแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการให้มีความครอบคลุมอย่างไร การขยายโครงข่ายได้เป็นไปตามกำหนดไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการทุกรายคงล้มเหลวในการให้บริการหมดแล้วสำหรับการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลก็ได้ดำเนินการจนครบทั้งหมดแล้ว ซึ่งการแจกคูปองต้องเป็นไปตามแผนการขยายโครงข่ายที่สากลทำกัน” พ.อ.นที กล่าว

         พ.อ.นที กล่าวว่า ในส่วนของการชำระค่าใบอนุญาตนั้น ตามหลักเกณฑ์การประมูลผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตตามกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 42 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ระบุว่าต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทั้งหมด แต่กสทช.มีการผ่อนปรนให้ด้วยการให้แบ่งชำระค่าใบอนุญาตได้ และมีการนำหนังสือรับรองมาค้ำประกัน

 

“กสทช.”อุทธรณ์แจง3ปม“เจ๊ติ๋ม”

 

         ทั้งนี้ กสทช.ไม่มีความกังวลไดๆ หากช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ จะดำเนินตามช่องไทยทีวี เพราะขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าผลสุดท้ายของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในครั้งนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็น้อมรับในคำวินิจฉัยของศาล

         “ที่ผ่านมากสทช.มีมาตรการในการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีต้นทุนที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมัสต์ แคร์รี่ ที่มีการจ่ายค่านำสัญญาณขึ้นดาวเทียมให้แก่ทุกช่อง เพราะท้ายสุดแล้วกสทช.มองว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง กสทช.มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในธุรกิจของทีวีต้องยอมรับว่าทำยาก ความสำเร็จและประสิทธิภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน การที่เขาเข้ามาประมูลในช่องข่าว ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มช่องข่าวจะมีรายได้แบบนี้ การเข้ามาสู่ธุรกิจทีวีไม่ใช่เรื่องง่ายต้องมีประสิทธิภาพถึงจะแข่งขันได้” พ.อ.นที กล่าวทิ้งท้าย

         ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า หากผู้ประกอบการรายใดต้องการเดินตามโมเดลของไทยทีวี คิดว่าก็ต้องดำเนินการฟ้องศาลเหมือนที่ไทยทีวีทำ เพราะกสทช.ได้อุทธรณ์และคดียังไม่มีการตัดสินถึงที่สุด ส่วนประเด็นที่ว่าการที่ศาลปกครองกลางตัดสินว่า กสทช.ไม่ดำเนินการตามสัญญาที่มีต่อผู้ประกอบการนั้น จะนำไปสู่ช่องทางให้คนอื่นฟ้องกสทช.ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่นั้น ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ แต่กสทช.ก็ยังคงยืนยันตามประเด็นที่ พ.อ.นที ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

“กสทช.”อุทธรณ์แจง3ปม“เจ๊ติ๋ม”

 

         ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อทีวีดิจิทัลหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย คือมีทั้งกำไรและขาดทุนกับการที่คุณจะทำอย่างนั้น แต่เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้แก่ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะกสทช.ว่าถ้ามีคนมาขอยกเลิกสัญญาหรือขอถอนตัวออกไปจะต้องปฏิบัติอย่างไร และแบ่งงวดกันอย่างไร

         ผู้สื่อข่าวถามว่า กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ใน 30 วันในขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็จะต้องจ่ายเงินงวดถัดไปในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วย ตรงนี้จะต้องรอฟังศาลปกครองสูงสุดก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าสมมุติมีการอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ทุกอย่างเมื่อศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดก็ต้องรอก่อน ยังไม่จ่าย แต่ส่วนเรื่องการบังคับคดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

“กสทช.”อุทธรณ์แจง3ปม“เจ๊ติ๋ม”

 

         นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหารือในวันที่ 15 มีนาคม จะได้ข้อสรุปหรือไม่ว่า เป็นการหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นฝ่ายเรียกร้องขอความช่วยเหลือขอความเห็นใจมา เราก็เอาเรื่องที่เขาขอมาดูซึ่งพบว่าบางเรื่องพอจะผ่อนให้ได้ บางเรื่องช่วยได้แต่คนละแนวทางกับที่ขอ แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะต้องให้ได้ประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย โดยทั้งหมดมีการพูดคุยมาหลายรอบแล้ว ซึ่งในวันที่ 15 มีนาคม ก็จะคุยกันอีกสักครั้งหนึ่ง ส่วนจะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่หรือต้องไปคุยกับนายกรัฐมนตรีก่อนหรือไม่นั้น ทุกเรื่องต้องไปคุยกับนายกฯ อยู่แล้ว ไม่มีใครสรุปแล้วจบได้ทันที เพราะต้องนำไปสู่การทำให้ถูกกฎหมายก่อน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ