ข่าว

เปิดคำพิพากษาฎีกา สั่ง "บำรุงราษฎร์" จ่าย 1ล."เมียเชฟ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดคำพิพากษาฎีกา สั่ง " รพ.บำรุงราษฎร์-หมอทำคลอด" จ่ายเงินล้าน เมียเชฟดัง


           ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ บางนา วันที่ 14 มี.ค.61-ศาลฎีกา ชี้  2 หมอทำคลอด ไม่สื่อสารให้แม่เข้าใจครบถ้วน เพื่อเตรียมใจ-หาทางแก้ ทำให้เสียหายอนามัย-จิตใจรุนแรงแบบกะทันหัน เมื่อคลอดลูกพิการแขน-ขา สั่งร่วมชดใช้ 1 ล้าน-ดอกเบี้ย 11 ปีทำขวัญเมียเชฟดัง

           เวลา 11.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ พ.8964/2550 ที่นางประภาพร แซ่จึง อายุ 45 ปี และ ด.ช.ซาย เค่อ ลี หรือน้องซาย อายุ 12 ปี ซึ่งพิการแขน-ขาหลังคลอด โดยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรชายของ "นายวอเตอร์ ลี" สัญชาติมาเลเซีย เชฟชื่อดังและอดีตผู้ดำเนินรายการอาหารชื่อ "@ 5 เดลี่" ออกอากาศสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) , นพ.เดชะพงษ์ ภู่เจริญ แพทย์สูตินารีเวช และ พญ.อรชาติ อุดมพาณิชย์ แพทย์รังสีวิทยา เป็นจำเลยที่ 1 – 3 เรื่องละเมิดจากการวินิจฉัยอาการทารกในครรภ์ก่อนคลอดไม่ครบถ้วน จึงให้ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายทางจิตใจ และค่ารักษา ค่าอวัยวะเทียม รวม 390,966,293 บาท จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.49 นางประภาพร ภรรยาของนายวอลเตอร์ ลี ได้ฝากครรภ์ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ แต่ปรากฏว่าบุตรชายออกมา มีความพิการแขนขวา และขาทั้งสองข้างขาด ทั้งที่การฝากครรภ์แพทย์ระบุผลอัลตราซาวด์ว่า บุตรในครรภ์ของนางประภาพร สมบูรณ์และแข็งแรงดี

           โดยคดีนี้ ศาลจังหวัดพระโขนง ที่เป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.52  เห็นว่า บริษัทบริหารโรงพยาบาลและแพทย์ทั้งสอง ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยได้กระทำประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสอง และละเว้นหน้าที่ที่ต้องระวัง เมื่อปี 2549 ในการตรวจเช็คความพิการของทารกขณะตั้งครรภ์ก่อนคลอด และการอธิบายวิธีการรักษาตามหน้าที่เพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์รับทราบผลดี ผลเสีย ของทารกในครรภ์หากมีความพิการ ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร หรือการยินยอมหากจะยุติครรภ์ในกรณีที่ไม่ขัดศีลธรรมซึ่งสามารถทำได้ตามมติของแพทยสภาโดยต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้รักษาประกอบคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งแพทย์นั้นมีหน้าที่ต้องบอกอธิบายวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยรับทราบและยินยอม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าแพทย์ผู้รักษาไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์และไม่เคยอธิบายผลดี-ผลเสีย ของบุตรในครรภ์ให้โจทก์ทราบ จึงให้จำเลยทั้งสาม ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายทางจิตใจ ,ค่ารักษาผ่าตัดในอนาคต , ค่าอุปกรณ์ช่วยการพยุงตัวตามวัยและค่าขาดรายได้ รวม 12 ล้านบาทให้กับโจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.50 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี และให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าทนายความ 50,000 บาทให้โจทก์ทั้งสองด้วย โดยที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมที่ให้ บริษัทบริหารโรงพยาบาลและแพทย์ ร่วมกันชดใช้ทดแทนให้โจทก์ทั้งสองไม่เต็มจำนวนตามที่ฟ้องนั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้ส่อไปในทางเป็นอาชญากรรม

           ต่อมาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อปี 2556 แก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 1 ล้านบาท ให้กับนางประภาพร โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง โดยให้ยกฟ้องในส่วนของ ด.ช.ซาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งนอกจากที่แก้แล้ว ก็ให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสาม ยังได้ยื่นฎีกา

           ทั้งนี้ "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่ พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 แจ้งว่า ทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ หรือไม่พบความผิดปกติ ทั้งๆที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรงนั้น ย่อมทำให้นางประภาพร โจทก์ที่ 1 เข้าใจผิดและคาดหวังว่าทารกในครรภ์ มีสภาพร่างกายปกติเช่นคนทั่วไป จึงไม่ได้ขอตรวจครรภ์ซ้ำอีก จึงย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไข เยียวยา หรือดำเนินการเกี่ยวกับ ด.ช.ซาย โจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากจำเลยที่ 3 ตั้งแต่แรกและทราบความพิการของทารกที่ไม่อาจแก้ไขได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเกตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดซึ่งจะเป็นผลดีแก่สภาพจิตใจมากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการโดยกะทันหันที่เป็นเหตุให้เกิดกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง การที่ นพ.เดชะพงษ์ จำเลยที่ 2 และ พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ไม่พบความพิการและไม่ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเลอ ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางจิตใจและเสียหายแก่อนามัย

           คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า นพ.เดชะพงษ์ จำเลยที่ 2 แนะนำให้นางประภาพร โจทก์ที่ 1 ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพิ่มเติม แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งไม่มีการระบุไว้เป็นหลักฐานในบันทึกการตรวจ ดังเช่นที่ นพ.เดชะพงษ์ จำเลยที่ 2 เคยบันทึกไว้ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะผิดปกติของไขสันหลังและภาวะปัญญาอ่อนของทารก ซึ่งหากจำเลยที่ 2 แนะนำว่าควรตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพิ่มเติม และแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนว่าการตรวจอัลตราซาวด์ครั้งแรกยังไม่สามารถบอกได้ว่าทารกพิการหรือไม่ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ที่ 1 จะปฏิเสธการตรวจตามคำแนะนำของจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

           คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเนื่องจากมีความผิดปกติในขณะ นางประภาพร มารดา โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม และ พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความผิดปกติอันเป็นการกระทำละเมิดต่อนางประภาพร โจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของ ด.ช.ซาย โจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม คงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ จึงตรวจไม่พบความพิการของ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 เท่านั้น และยังได้ความจากผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาว่า กรณีของ ด.ช.ซาย โจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการดังกล่าว ก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าหาก พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ตรวจพบความพิการของโจทก์ที่สองแล้วแจ้งให้ทราบ นางประภาพร โจทก์ที่ 1 จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้เห็นว่าการที่ พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการ และไม่แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบนั้น ทำให้ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากยิ่งขึ้น

           แต่กลับได้ความจากการเบิกความของนางประภาพร โจทก์ที่ 1 ว่า หากตรวจพบความพิการของ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ที่ 1 ก็จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่าหากทราบก่อนว่าโจทก์ที่ 2 พิการก็จะได้ปรึกษาแพทย์ทั้งในและต่างประเทศนั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่าจะปรึกษาอย่างไรและจะแก้ไขความพิการของโจทก์ที่ 2 ขณะอยู่ในครรภ์ได้หรือไม่ เพียงใด ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าความพิการทางร่างกายของ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนของ ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

           คดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางประภาพร โจทก์ที่ 1 เพียงใด ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการที่ พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของทารกในครรภ์ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 คาดหวังว่า โจทก์ที่ 2 จะมีสภาพร่างกายสมบูรณ์เช่นคนปกติทั่วไป ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมรู้สึกว่าไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดหาหนทางเยียวยาแก้ไขหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์ ดังนั้นจึงย่อมจะเกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจของนางประภาพร โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นมารดาอย่างรุนแรง จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแก่อนามัย โดยเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เป็นเงิน 1 ล้านบาท นับว่าเหมาะสมแล้ว

           ส่วนที่นางประภาพร โจทก์ที่ 1 ฎีกาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนที่เป็นค่าขาดรายได้ด้วย เพราะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากต้องดูแล ด.ช. ซาย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลมาดูแลโจทก์ที่ 2 กับค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ในการใส่อุปกรณ์และอวัยวะเทียมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะได้ความว่าหากมีการตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์ หนทางที่เป็นไปได้คือการยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง แต่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า กรณีของนางประภาพร โจทก์ที่ 1 ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ขณะที่โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หาก พญ.อรชาติ จำเลยที่ 3 ตรวจพบความพิการขณะอยู่ในครรภ์ จะมีผลกระทบต่อจิตใจของโจทก์ที่ 1 ถึงขนาดมีความเครียดอย่างรุนแรงอันจะเข้าเงื่อนไขที่แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และการแก้ไขปัญหาที่ขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งไม่แน่ว่าจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งถ้าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงความพิการก่อน ก็ยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 จะตัดสินใจเลือกใช้แนวทางการทำแท้งต่อการแก้ปัญหาความพิการของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ดังนั้นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องในส่วนนี้จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ และถ้าโจทก์ที่ 1 ได้เลือกแก้ปัญหาความพิการของโจทก์ที่ 2 ด้วยการขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ โจทก์ที่ 1 ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ดังนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ความเสียหายที่จะเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม อีกทั้งยังเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

           ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามในประเด็นอื่นก็ล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดที่ไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืน

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกา มีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ก็ถือเป็นที่สุด โดย บริษัทบริหาร รพ.บำรุงราษฎร์ และแพทย์ทั้งสอง ต้องร่วมกันชดใช้เงิน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องที่ 20 ก.ย.50 และค่าทนายความ 50,000 บาทให้โจทก์ทั้งสองด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ