ข่าว

แก้ ก.ม.แพ่ง เอื้อ ปชช.ทำสัญญายอมความเคลียร์หนี้ก่อนฟ้อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลยุติธรรม แก้ ก.ม.แพ่ง เอื้อ ปชช.ทำสัญญายอมความเคลียร์หนี้ก่อนฟ้อง ขอศาลตัดสินได้ทันที



          13 มี.ค.61-โฆษกศาลยุติธรรม" เผย กก.บริหารศาล ผ่าน ก.ม.รอเสนอ ครม.- สนช.แจง ปชช.ได้ประโยชน์ตามนโยบาย ปธ.ศาลฎีกา ไม่ต้องเสียเงินมากขึ้นศาล-ลดเวลาคดี บังคับได้ทันทีตามสัญญายอมความหลังศาลมีคำพิพากษา

          นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงการเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีมติ เห็นชอบร่างดังกล่าว ที่แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีแล้ว ให้สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช.ต่อไป

          โดยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ นี้ ได้ให้เพิ่ม "มาตรา 20 ตรี" เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีกรณีพิพาท โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1. หากมีกรณีที่พิพาทเกิดขึ้นคู่พิพาทสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหากว่าต้องมีการฟ้องคดีเพื่อขอให้แต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องให้ได้ถ้าศาลเห็นสมควรและคู่กรณีอีกฝ่ายสมัครใจที่จะเข้าร่วมไกล่เกลี่ย ศาลก็จะแต่งตั้งผู้ประนีประนอมมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ และหากไกล่เกลี่ยสำเร็จจนสามารถจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2. คือหากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะให้ศาลพิพากษาตามยอม ก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลนั้น ขอให้พิพากษาตามยอมได้ และหากคู่สัญญาอีกฝ่ายแถลงรับตามคำร้องขอ ก็ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 ได้โดยอนุโลม โดยการพิจารณาพิพากษาตามยอมนั้นให้ศาลคำนึงถึงเจตนาที่แท้จริงของคู่พิพาทในการทำสัญญา ความมุ่งหมายที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และความชอบธรรมทั้งต่อนโยบายสาธารณะหรือต่อบุคคลภายนอกด้วย 

          นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอธิบายอีกว่า วิธีการนี้ ทำให้ข้อพิพาททางแพ่ง สามารถยุติลงได้ด้วยดี ไม่ต้องมีการฟ้องร้องกันอีกครั้งให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี กล่าวคือ เมื่อคู่ความได้สมัครใจตกลงกันเองในการระงับข้อพิพาท ก็เสนอให้ศาลที่มีเขตอำนาจนั้นพิจารณาพิพากษาตามที่ตกลงกันนั้น หรือที่เรียกว่า พิพากษาตามยอมและออกคำบังคับมีผลผูกพันให้คู่ความต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนหรือผิดเงื่อนไขก็เท่ากับการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา สามารถขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปได้

           ต่างจากเดิมซึ่งหากไม่มีการแก้กฎหมายนั้น หลักการในปัจจุบัน การประนีประนอมยอมความก่อนฟ้อง ถือเป็นข้อตกลงของคู่กรณีในการระงับข้อพิพาท ผ่านระบบไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางเลือก แต่การตกลงทำสัญญาประนอมก่อนฟ้อง แม้จะมีผลผูกพันคู่ความให้ต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าต่อมาคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อีกฝ่ายต้องนำเหตุนั้นมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลอีกครั้งและให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาจนอาจถึงการสืบพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดผิดสัญญาและผิดสัญญากันอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งการฟ้องร้องเป็นคดีแบบนี้ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ คู่ความก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง และใช้เวลาในการพิจารณาคดีที่นานกว่า

           ดังนั้นการมีกฎหมายบัญญัติรับรองการประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดีไว้เช่นนี้ ทำให้คู่ความได้รับผลในทางปฏิบัติทันทีจึงทำให้ประชาชนจะได้รับความสะดวก เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเดิม

         "การกำหนดให้คู่สัญญา ยื่นเป็นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม แทนการยื่นฟ้อง ก็เพื่อนำไปสู่แนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายในค่าขึ้นศาลให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่มุ่งประสงค์ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ