ข่าว

ฟ้องระงับอิตาเลียนไทย ตัด-รื้อต้นไม้แนวสร้างรถไฟฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ส.ต้านโลกร้อน" จับมือเครือข่าย ปชช.รักษ์ต้นไม้ ร้องคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครอง ชี้ รฟม. - อิตาเลียนไทย ส่อใช้อำนาจตัดต้นไม้ ขัดกฎหมายสิ่งแวดล้อม-รักษาความสะอาด

 

          ที่ศาลปกครองกลาง วันที่ 12 มี.ค.61 - นายศรีสุววรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรักษ์ต้นไม้ในเมือง , นางอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big Trees , นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายประชาชนรักษ์ต้นไม้ รวม 9 ราย ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดให้มีบริการรถไฟฟ้า และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองกลาง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ตามมาตรา 9(1) เรื่องใช้อำนาจการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำการโดยนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ ซึ่งกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการ ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ.2535 

          จากกรณีที่ "บมจ.อิตาเลียนไทยฯ" ในฐานะผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ดำเนินการตัดต้นไม้ รวม 14 ต้น ริมทางเดินเท้าหน้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยยังไม่ได้ขออนุญาตจาก กทม. จนทำให้เสียทัศนียภาพและอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่เดินผ่านไปมาเพราะมีสายไฟฟ้าห้อยระโยงระยางเป็นที่อันตรายต่อผู้สัญจรไปมาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้นไม้ในบริเวณเกาะกลางถนนและริมทางเท้าของ กทม. จะถูกตัดฟันโค่นทำลาย หรือล้อมบอนออกไปไว้ที่อื่น ทั้งๆที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดฟันโค่นทำลายให้เสียหายทั้งหมดแต่อย่างใด 

          อีกทั้ง ต้นไม้ที่มีการล้อมออกไปนั้น ก็เสียหาย และตายเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า รฟม. และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ดูแลรักษาต้นไม้สาธารณะที่เป็นเสมือนปอดของคนกรุงเทพมหานคร

          โดยกลุ่มผู้ฟ้อง ขอให้มีคำสั่งให้ รฟม. และ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องหยุดการตัด ย้าย หรือการกระทำใดๆ ต่อต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สายในกรุงเทพมหานคร จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายที่ชัดเจน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

          และขอศาลมีคำสั่ง ให้ รฟม. นำต้นไม้ชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันกับที่ตัดโค่น ทำลาย หรือขุดล้อม ย้ายออกไป กลับคืนมาปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับจุดเดิม หากต้นไม้ที่ย้ายไปตายไปแล้วก็ให้มีการซื้อหามาปลูกทดแทนให้มากขึ้นเป็น 10 เท่า รวมทั้งยื่นคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องทำการล้อมย้ายต้นไม้ที่จะส่งให้ต้นไม้อาจได้รับความเสียหายไว้ก่อนจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา

          ทั้งนี้ศาลก็ได้รับคำฟ้องไว้ในสารบบคดีหมายเลขดำ ส.17/2561 เพื่อจะมีคำสั่งต่อไปว่าจะรับฟ้อง หรือรับไว้ไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ต่อไป

          โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมจ่อต้านสภาวะโลกร้อน หนึ่งในผู้ฟ้องกล่าวถึงเหตุที่มายื่นฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองว่า เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าได้มีการตัดต้นไม้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 ต้นอย่างผิดวิธีและไม่ได้มีการขออนุญาตในการตัดจากกรุงเทพมหานคร จึงถือว่าเป็นการกระทำขัดต่อพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ หลายมาตรา  

          ก่อนหน้านี้ ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต ก็มีตัดและล้อมย้ายต้นไม้ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อนำไปแล้วก็ไม่มีการบำรุงรักษาจนต้นไม้ทยอยยืนแห้งตาย ประกอบกับไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ จะมีการนำต้นไม้เดิมกลับมาปลูก หรือปลูกอื่นทดแทนในจำนวนเท่าเดิมก่อนการก่อสร้างหรือไม่ เราจึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมากจึงต้องฟ้องคดี และขอคุ้มครองชั่วคราว ห้ามการล้อมย้ายต้นไม้ไว้ก่อน โดยศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะนัดไต่สวนเมื่อใด

          ด้าน น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ ล้วนมีการรักษาต้นไม้ใหญ่ ให้อยู่คู่กับเมือง ดังนั้นคนกรุงเทพจึงไม่จำเป็นต้องเลือกหรือแลก แต่เราสามารถมีได้ทั้งความเจริญจากรถไฟฟ้าและเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติจากต้นไม้ในเมือง ก่อนหน้านี้เครือข่ายต้นไม้ในเมืองได้เคยร้องเรียนเรื่องการตัดต้นไม้ผิดวิธีในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ไปยังกรุงเทพมหานคร จนเกิดการนำนักวิชาการด้านการล้อมต้นไม้มาให้ความรู้กับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกราย แต่เพียง 2 เดือนถัดมาบริษัทอิตาเลียนไทย ก็ตัดต้นไม้ผิดวิธีที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและรฟม.เจ้าของสัมปทานยังไม่มีแนวปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองที่ถูกต้องดีพอ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้อำนาจศาลคุ้มครองต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจของรฟม. และบริษัทอิตาเลียนไทย 

          ขณะที่ นางอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big Trees กล่าวว่า หลังจากยื่นคำฟ้องเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 12.00 น. ศาลก็บันทึกไว้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม หมายเลข ส.17/2561 โดยวันนี้ศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ ว่าจะนัดไต่สวนเมื่อใด ซึ่งการฟ้องคดีเราไม่ได้ร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพียงแต่ยื่นคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้.

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ