ข่าว

"เขตโบราณสถาน" ซื้อขาย ทำธุรกิจได้(คลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 แจงชาวบ้านเข้าใจผิด ยืนยันสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือและทำธุรกิจได้ตามปกติ เผยมีกลุ่มบุคคลความพยายามจะออกเอกสารสิทธิ์ทับโบราณสถาน

 

         กรณีที่ชาวบ้านที่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลพิมาย จ.นครราชสีมา คัดค้านการประกาศเขตพื้นที่โบราณสถานพิมาย ของกรมศิลปากร หลังจากทางกรมศิลปากร ได้ทำหนังสือส่งถึงประชาชน 1,665 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2,658 ไร่ 25 ตารางวา รอบอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ได้ทราบว่า ทางกรมศิลปากร จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504เพื่อประกาศให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตโบราณสถาน

         โดยหนังสือระบุวันที่แจ้งมาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2560 แต่หนังสือเพิ่งมาถึงชาวบ้านเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีกำหนดให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย สามารถไปใช้สิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลปกครองภายใน 30 วันนั้น ได้สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.พิมายเป็นอย่างมาก จนได้มีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเพราะเกรงจะได้รับผลกระทบที่อยู่อาศัยและการประกอบธุรกิจต่างๆ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

         เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 นายจารึก   วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวบ้านคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่โบราณสถานรอบปราสาทหินพิมาย ของกรมศิลปากร เนื่องจากชาวบ้านส่วนหนึ่งเกรงว่าหากประกาศเป็นเขตพื้นที่โบราณสถานไปแล้ว พื้นที่ครอบครองของตนจะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น 1.สิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าวจะไม่สามารถขายเปลี่ยนมือได้ 2.จะไม่สามารถต่อเติมอาคารบ้านเรือนได้ 3.ในการทำธุรกิจของชาวบ้านจะมีปัญหาในเรื่องของการกู้เงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านบางส่วนยังเข้าใจผิด

          นายจารึก  กล่าวอีกว่า กรมศิลปากรได้มีการชี้แจงไปแล้วว่า สิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าวยังสามารถขายเปลี่ยนมือได้ตามปกติ และสามารถปลูกบ้านหรืออาคารแทนหลังเก่าได้ อีกทั้งยังสามารถต่อเติมบ้านและอาคารได้ เพียงแต่กรมศิลปากรจะเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องความสูงของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น โดยความสูงห้ามเกินตึก 2 ชั้น หรือประมาณ 9 เมตร เหมือนกับพื้นที่ประกาศเป็นโบราณสถานในเขตจ.สุโขทัย จ.อยุธยา และจ.กำแพงเพชร เป็นต้น

 

 

"เขตโบราณสถาน" ซื้อขาย ทำธุรกิจได้(คลิป)

          "ซึ่งในพื้นที่ที่ประกาศไปแล้วนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตก่อนทำการก่อสร้างมาเรื่อยๆ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด นอกจากกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ ต้องการออกเอกสารสิทธิ์บริเวณสระน้ำเมืองโบราณ ซึ่งปกติไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ ให้บุคคลใดครอบครองได้ และในอ.พิมายก็มีสระน้ำเมืองโบราณเช่นกัน อยู่ทางทิศใต้ของเมือง ขนาดความกว้าง 750 เมตร ความยาว 1,800 เมตร"นายจารึก กล่าว

     ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 จ.นครราชสีมา   กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกทั้งในเรื่องที่ชาวบ้านกังวลใจ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจนั้น เป็นความเข้าใจผิดและคิดกันไปเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และหากชาวบ้านยังยืนยันจะคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่โบราณสถานรอบปราสาทหินพิมาย ของกรมศิลปากรนั้น ก็ต้องว่ากันตามกระบวนการทางกฎหมาย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ