ข่าว

เสื้อไหมไทยฝีมือคนคุกส่งแบรนด์"คาร์เซล"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยธ.จับมือ"คาร์เซล"ห้องเสื้อแบรนด์เดนมาร์ก พัฒนาฝีมือผู้ต้องขังตัดเย็บเสื้อผ้าไหมไทยส่งออก นำร่องคุกหญิงเชียงใหม่ ปลัดยธ.ลั่นสินค้าคนคุกต้องซื้อที่คุณภาพไม่ใช่คว

        12 ก.พ. 61  นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าให้ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกับแบรนด์คาร์เซล (Carcel) โดยนางแอน วาโรนิก้า (Mrs. Anne Veronica Faerge D'Souza)  ผู้บริหารระดับสูงและผู้ก่อตั้งแบรนด์คาร์เซล หรือบริษัท เมดอินพริซัน ไอวีเอส จำกัด ( Made In Prison IVS )

        นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า ตัวเลขการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขังในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไข โดยเฉพาะการฝึกทักษะอาชีพและการดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาด้านจิตที่มีจำนวนหลักพันคน การลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำ กรมราชทัณฑ์จะต้องหาทางออกให้ผู้ต้องขังตั้งแต่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ โดยใช้เวลาในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ด้วยการฝึกงานหรือการฝึกอาชีพและถือเป็นหลักสำคัญในการปรับตัวของผู้ต้องขัง แต่การฝึกทักษะยังต้องมีตลาดรองรับ กรมราชทัณฑ์ต้องเลิกขายสินค้าจากความสงสาร แต่ให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าซื้อเพราะสินค้ามีคุณภาพ มีแบรนด์  เพื่อให้การฝึกอาชีพมีประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง และเป็นทุนเมื่อพ้นโทษแล้วสามารถนำเงินไปเป็นทุนประกอบธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหานักโทษล้นเรือนจำยังเป็นปัญหาหลักของเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันมีนักโทษกว่า 3.2 แสนคน เมื่อปล่อยออก 1.6 แสนคน ก็มีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาเพิ่ม 1.5 แสนคน 
          ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าวเนื่องมาจากข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิด หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลังการปล่อยตัว ช่วยให้การกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงมีประสิทธิภาพสูงสุด และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ต้องขังหญิงได้อย่างแท้จริง

           ผู้ต้องขังหญิงจึงต้องได้รับโอกาสหรือมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษารวมถึงการฝึกอาชีพ โดยการฝึกวิชาชีพและงานที่จัดหาให้ในเรือนจำแก่ผู้ต้องขังหญิงนั้น หากมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเป็นการส่งเสริม หรือสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการพัฒนาฝีมือและสร้างเสริมทักษะใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ย่อมเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงให้มีความสามารถหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และบริษัท Made In Prison IVS จำกัด

           ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่าคาร์เซล ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยคาร์เซลผลิตเสื้อผ้าแนวสโลว์แฟชั่นที่ขายเสื้อผ้าหรูหราจากฝีมือบรรดาผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ดังนั้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงและเพื่อให้การกลับเข้าสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิงประสบความสำเร็จตามข้อกำหนดกรุงเทพ จึงนำมาสู่การริเริ่มโครงการ Carcel Garment Production ที่สามารถยกระดับและสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          สำหรับขอบเขตขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย 1. กระทรวงยุติธรรม โดยโครงการกำลังใจ และ Carcel จะร่วมมือกันพัฒนาโครงการ Carcel Garment Production ให้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมและเป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยและทั้งสองฝ่ายต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาเพื่อรับหน้าที่ดูแลโครงการที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

          2. ร่วมกันประเมินผลและประสิทธิภาพของโครงการ โดยยึดถือตามข้อตกลงทุก ๆ เดือน ตลอดช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งเป็นระยะเวลาทดลองงาน หลังจากนั้นคาร์เซลจะพิจารณาและตกลงว่าจะต้องประเมินผลบ่อยครั้งเพียงใด โดยโครงการกำลังใจจะเขียนรายงานการประเมินผลโครงการเมื่อสิ้นสุดขั้นตอนในการทดลองโครงการ 

          3. กระทรวงยุติธรรม โดยโครงการกำลังใจ และคาร์เซลจะมีสิทธิรายงานความคืบหน้าและผลกระทบของโครงการต่อสื่อภายนอกได้ แต่อย่างไรก็ดีการติดต่อหรือรายงานทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยโดยเฉพาะกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์

          4. กระทรวงยุติธรรม โดยโครงการกำลังใจจะส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดกรุงเทพ 5. คาร์เซล จะฝึกอบรมวิชาชีพในการตัดเย็บเสื้อผ้าตามที่ คาร์เซล เป็นผู้ออกแบบให้แก่ผู้ต้องขังหญิง และเป็นฝ่ายจัดหาวัตถุดิบทั้งหมด โดยจะต้องใช้ผ้าไหม 100% ของประเทศไทยเท่านั้น รวมทั้งต้องรับผิดชอบในขั้นตอนของการนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการจำหน่ายทั้งหมด 6. คาร์เซล จะเป็นผู้จำหน่ายหรือขายสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ร้านค้าของ คาร์เซล และ 7. กระทรวงยุติธรรม โดยโครงการกำลังใจ จะร่วมกันจัดทำสัญญาในรายละเอียด เพื่อให้บรรลุภารกิจดังกล่าวข้างต้นต่อไป
         บริษัทคาร์เซล ก่อตั้งเม.ย.2559 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นบริษัทที่ออกแบบและผลิตเสื้อผ้า ชูจุดเด่นด้านการผลิตเพื่อสังคม ว่าจ้างผู้ถูกคุมขังในเรือนจำหญิงเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อให้มีรายได้ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว ร่วมทั้งเปลี่ยนเวลาในเรือนจำให้เป็นรายได้ที่เป็นธรรม
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ